ผ่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แผลเป็นจากโควิด ซึมลึก-โตช้า เสี่ยงวิกฤต

08 ก.พ. 2567 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.พ. 2567 | 08:10 น.

ผ่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทย พบปัญหาเชิงโครงสร้างต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน หลัง ธปท. เปิดข้อมูลสำคัญพบแม้ว่าไทยจะผ่านโควิด-19 แล้วแต่กลับฟื้นตัวช้า สะท้อนปัญหาจนอาจเสี่ยงเกิดวิกฤตได้หากไม่เร่งแก้

KEY

POINTS

  • วิกฤตโควิด-19 ผ่านไปแล้วแต่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าวิกฤตอื่น ๆ ทั้ง วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ และ วิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
  • ประเทศไทยกำลังมีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจเปราะบาง โดยมีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทอดมายาวนาน
  • มองไปข้างหน้า การประเมินตัวเลข GDP ไทยในช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 น่าจะต่ำกว่าที่คาด ถือเป็นจุดตั้งต้นการประเมินตัวเลข GDP ปี 2567 น่าจะลดลง
     

“เศรษฐกิจไม่ดี เศรษฐกิจแย่” สองคำนี้มักได้ยินกันอย่างสม่ำเสมอ เมื่อหันไปถามผู้คนมากมายหลากหลายอาชีพ แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมาหลังเกิดวิกฤตการโรคระบาดครั้งใหญ่โควิด-19 เมื่อช่วงปลายปี 2562 แต่จนถึงตอนนี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ยังไม่พุ่งทะยานดั่งใจหวัง สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเปราะบาง

ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา หลาย ๆ หน่วยงานพยายามฉายภาพปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยออกมาอย่างต่อเนื่องว่า ถึงเวลายกเครื่องใหม่ เพื่อเสริมความเข้มแข็งรองรับบริบทใหม่ของโลก เพราะการยึดโครงสร้างเดิม ๆ อาจทำให้ประเทศไทยก้าวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นทุกวินาที และท้ายที่สุดจะกลายเป็นหายนะที่ไร้หนทางแก้ 

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย นำเสนอข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจไทยช่วงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ชี้ให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยพบข้อมูลน่าสนใจว่า หลังจากผ่านโควิด-19 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าวิกฤตอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ ทั้งวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2550 หรือย้อนไปถึงวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ก็ยังฟื้นตัวได้เร็วกว่าโควิดเช่นกัน

ทั้งนี้ตัวเลขที่เห็นได้ชัดคือเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วเศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวได้ช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเกิดวิกฤตกระแทกเข้ามาแล้ว จะส่งผลกระทบกับการฟื้นตัวที่ช้ากว่าในอดีตมาก 

 

ภาพประกอบข่าวผ่าปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 2567 ข้อมูลจาก ธปท.

สัญญาณสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้าง

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ระบุว่า ปัจจุบันมีสัญญาณชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ทอดมายาวนาน โดยมีปัจจัยที่ต้องติดตามดังนี้

การส่งออก : การส่งออกของไทยขังขยายตัวต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง โดยหลายปีที่ผ่านมาการฟื้นตัวของการส่งออกไทยยังช้ากว่าหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และสินค้าส่งออกของไทยอาจถูกลดทอนความสำคัญลงในตลาดโลก ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามที่กลับมาฟื้นตัวได้สูงสุดในภูมิภาค 

การนำเข้า : การแข่งขันในประเทศเริ่มมีปัญหา โดยการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ถูกสินค้านำเข้าจากต่างประเทศตีตลาดค่อนข้างมาก เช่น สินค้านำเข้าจากประเทศจีน ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลสะเทือนไปถึงภาคการผลิตในประเทศ และภาคการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก

การท่องเที่ยว : หลังจากผ่านช่วงโควิด-19 การท่องเที่ยวของไทยเริ่มฟื้นตัวมาอย่างต่อเนื่อง แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย กลับมีพฤติกรรมที่อยู่ในไทยสั้นลง และใช้จ่ายเงินต่อทริปมีแนวโน้มน้อยลงกว่าเดิม แม้ถ้าดูจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจะมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิดก็ตาม 

 

ภาพประกอบข่าวผ่าปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 2567 ข้อมูลจาก ธปท.

จับตา GDP ไทยโตไม่สูงมาก

สำหรับการขยายตัวของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา หลังจากภาคการผลิตฟื้นตัวได้ช้า แต่ภาคการบริโภคฟื้นตัวเร็ว และตัวเลข GDP ไม่ได้สูงนัก สะท้อนจากสินค้าคงคลังที่ติดลบสูงมากในปี 2566 โดยเฉพาะตัวเลขของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 พบว่าการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลังติดลบสูงถึง 9.8%

แต่ถ้าหากดูการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ไม่รวมแรงฉุดจากสินค้าคงคลังแล้ว จะเติบโตได้ถึง 11.2% ดังนั้นจึงทำให้การประมาณการเศรษฐกิจมีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะสินค้าคงคลัง มีความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างหวือหวา และคาดเดายาก อีกทั้งในข้อมูลของสินค้าคงคลังในช่วงที่ผ่านมายังติดลบติดต่อกัน 8 ไตรมาส ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณอันตราย

ขณะเดียวกันเมื่อมองไปข้างหน้า การประเมินตัวเลข GDP ไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 ยังน่าจะต่ำกว่าที่คาดไว้พอสมควร ถือเป็นจุดตั้งต้นของการประเมินตัวเลข GDP ไทยในปี 2567 ซึ่งน่าจะลดลง แม้แรงส่งเศรษฐกิจจะคงเดิม 

“หากพูดง่าย ๆ ถ้า GDP ไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลง ประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 จะลดลงตามไปด้วย ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยทางเทคนิค แม้ว่าแรงส่งไตรมาสต่อไตรมาส และเดือนต่อเดือนจะดีกว่า แต่ตัวเลขปีต่อปีจะลดลงด้วยการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2566” 

 

ภาพประกอบข่าวผ่าปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย 2567 ข้อมูลจาก ธปท.

 

อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งสำหรับปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ณ ปัจจุบันนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้วอาจจะทำให้ประโยชน์ที่ประเทศไทยอาจได้รับจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อาจน้อยกว่าที่คาด สุดท้ายก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถฟื้นตัวได้ตามเป้าหมายตามที่ตั้งใจเอาไว้ด้วย