พาณิชย์ลุยเปิดเสรี 9 ธุรกิจ ดึงนักลงทุนต่างชาติ

25 ก.พ. 2567 | 05:51 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2567 | 09:26 น.

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าเปิดรับฟังความเห็น ร่างกฎกระทรวง เปิดเสรี 9 ธุรกิจ ให้นักลงทุนต่างชาติ ไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตรวจสอบรายละเอียดที่นี่

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดรับฟังความเห็น ร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. .... ระหว่างวันที่ 21 ก.พ. ถึง 15 มี.ค. 2567

สาระสำคัญของ ร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. ....  คือการกำหนดให้  9 ธุรกิจ เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ตามมติของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 

9 ธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

1. ธุรกิจบริการโทรคมนาคม สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เเนื่องจากป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับ (พระราชบัญญัติการประกอบกิจการ โทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดย กสทช.) ซึ่งคนต่างด้าวที่ต้องการ ประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบที่ หนึ่ง ต้องได้รับใบอนุญาตจาก คณะกรรมการ กสทช.

นอกจากนี้ยังช่วยลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแล ของภาครัฐ โดยไม่ต้องมายื่นขอ อนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบ ธุรกิจของคนต่างด้าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการลดต้นทุนและอำนวยความ สะดวกให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

ข้อมูล ตั้งแต่ปี 2548 ถึงเดือน มกราคม 2567 มีบริษัทที่ได้รับอนุญาต จาก กสทช.สำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งมีจำนวน 479 ราย

หมายเหตุ บริการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง รวม 820 ราย (คงอยู่ 479 ราย สิ้นผล341 ราย) บริการอินเตอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง รวม190 ราย (สิ้นผลทั้ง 190 ราย)

2. ธุรกิจศูนย์บริหารเงิน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน 

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับ(พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 โดย ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งกำหนดว่าธุรกิจศูนย์บริหารเงินต้องได้รับอนุญาตประกอบธุรกิจจากกระทรวงการคลัง และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนด ดังนั้นจึงเป็นการลดความซ้ำซ้อนในการกำกับดูแลของภาครัฐ

รวมทั้งเป็นธุรกิจที่ไม่ได้มีการแข่งขันกับคนไทย เนื่องจากการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีการจำกัดขอบเขตการให้บริกาการกู้หรือปล่อยกู้ให้ภายในกลุ่ มบริษัทเท่านั้ นไม่สามารถให้บริการนอกกลุ่มบริษัทได้ มีการทำหน้าที่เพื่อการบริหารธุรกรรมเงินตราต่างประเทศให้กับกลุ่มบริษัทในเครือ รวมถึงการบริหารสภาพคล่องภายในกลุ่มบริษัทเท่านั้น

นอกจากนี้เป็นธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ในกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม

สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติโดยเป็นธุรกิจบริการเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ ในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศซึ่งเป็นธุรกิจที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI ให้การส่งเสริมในประเภทกิจการและบริการและสาธารณูปโภค หมวดกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) และประเภทธุรกิจ Treasury Center ภายใต้ InternationalBusiness Center : IBC

ข้อมูล ณ มกราคม 2567 มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากธปท.ให้ประกอบธุรกิจศูนย์บริหารเงิน มีจำนวน 43 ราย โดยเป็นบริษัทไทย จำนวน 23 ราย และบริษัทต่างด้าว จำนวน 20 ราย
 

3. ธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศในกลุ่ม New S-curve อุตสาหกรรมดิจิทัล และเป็นธุรกิจที่ทำให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ นำไปสู่การจ้างงานที่มีศักยภาพ รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนห่วงโซ่คุณค่าเศรษฐกิจของประเทศให้มีต้นทุนด้านแรงงานต่ำลงและมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้น

4. ธุรกิจบริการบริหารจัดการงานด้านธุรการ ด้านทรัพยากรบุคคล ด้านเทคโนโลยี ให้แก่บริษัทในเครือในกลุ่ม

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นการจำกัดการให้บริการ เฉพาะแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สนับสนุนให้บริษัทในเครือในกลุ่มสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีลักษณะเป็นงานสนับสนุน (Supporting Service)

5. ธุรกิจบริการรับค้ำประกันหนี้เฉพาะภายในประเทศ ให้แก่บริษัทในเครือ

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นการจำกัดการให้บริการ เฉพาะแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สนับสนุนให้บริษัทในเครือในกลุ่มสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ทำให้การบริหารจัดการทางการเงินของบริษัทในเครือในกลุ่มเกิดความคล่องตัว

รวมถึงเป็นการดำเนินการที่เป็นผลสืบเนื่องจากการที่บริษัทในเครือในกลุ่มกู้เงินหรือสินเชื่อกับสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินผู้ให้กู้/ให้สินเชื่อกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทในเครือเข้าค้ำประกันหนี้ด้วย

6. ธุรกิจบริการให้เช่าพื้นที่บางส่วนเพื่อติดตั้งเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการให้บริการทางการเงิน เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติหรือบริการอัตโนมัติ (Vending Machine) เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่พนักงานบริษัท

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นการจำกัดการให้บริการ เฉพาะแก่บริษัทในเครือในกลุ่ม ซึ่งเป็นไปเพื่อการอำนวยความสะดวกให้กับพนักงานของบริษัท โดยการให้เช่านั้นไม่ใช่การให้เช่าเป็นการทั่วไป ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทในเครือในกลุ่มให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สนับสนุนให้บริษัทในเครือในกลุ่มสามารถบริหารจัดการสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยในการบริหารจัดการด้านสวัสดิการให้แก่พนักงาน ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมของพนักงาน

7. ธุรกิจบริการขุดเจาะปิโตรเลียม

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ  พิจารณาแล้วไม่เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย และผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน ขณะเดียวกันยังเป็นบริการที่ถูกจำกัดภายใต้สัญญาการให้บริการเฉพาะแก่ผู้รับสัมปทานจากกระทรวงพลังงาน เป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเฉพาะกรณีบริการขุดเจาะนอกชายฝั่ง ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และยังไม่มีผู้ประกอบการไทยให้บริการในขณะที่บริการขุดเจาะบนบกนั้นมีผู้ประกอบการไทยให้บริการ และคนไทยมีศักยภาพที่สามารถจะแข่งขันได้
 

8. ธุรกิจการให้กู้ยืมเงินในรูปแบบต่างๆ ที่มีหลักทรัพย์เป็นหลักประกัน ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายกำกับเฉพาะ(พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และก.ล.ต. เห็นว่าการนำธุรกิจดังกล่าวออกจากบัญชีท้ายฯ จะลดความซ้ำซ้อนในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐ

ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการแข่งขันกับคนต่างด้าว เป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจไทยและผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคนต่างด้าวทำให้เกิดการแข่งขันด้านบริการที่มีคุณภาพเพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น

จำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน

  • บริษัทหลักทรัพย์ (ประเภทนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์) จำนวนรวม 43 ราย เป็นคนต่างด้าว 20 ราย 

9. ธุรกิจการให้บริการเป็นตัวแทน ผู้ค้า ที่ปรึกษา หรือผู้จัดการเงินทุน สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่สินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546

เหตุผลที่นำออกจากบัญชีแนบท้ายฯ เป็นธุรกิจที่มีกฎหมายกำกับเฉพาะ(พระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และก.ล.ต. เห็นว่าการนำธุรกิจดังกล่าว
ออกจากบัญชีท้ายฯ จะลดความซ้ำซ้อนในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการแข่งขันกับคนต่างด้าว
นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจไทยและผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคนต่างด้าวทำให้เกิดการแข่งขันด้านบริการที่มีคุณภาพเพื่อให้ผู้ลงทุนมีทางเลือกในการเข้าถึงสินค้าและบริการ
ที่เพิ่มขึ้น
จำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลในปัจจุบัน

  • บริษัทหลักทรัพย์ (ประเภทนายหน้า ค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์) จำนวนรวม 43 ราย เป็นคนต่างด้าว 20 ราย 
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนจำนวนรวม 27 ราย เป็นคนต่างด้าว 9 ราย 
  • ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จำนวนรวม 43 ราย เป็นคนต่างด้าว จำนวน 18 ราย

อ่าน รายละเอียด ร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ. ....เพิ่มเติม คลิกที่นี่