วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “ADVOCATE 2024” โดยนายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครอง ท้องถิ่น เป็นประธานเปิดกิจกรรม โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต กล่าวรายงาน ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ผู้ร่วมงาน และนางสาวศิรินทร์พร เดียวตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบวิจัย สำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ ร่วมกล่าวแสดงความยินดีต่อผลสำเร็จการดำเนินงาน
ทั้งนี้ นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติแก่ชุมชน ADVOCATE 8 ตำบลต้นแบบ ได้แก่ เทศบาลตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ,เทศบาลตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ ,เทศบาลตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่,เทศบาลตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ,เทศบาลตำบลวังดิน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน,เทศบาลตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ,เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และ องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความมุ่งมั่นตั้งใจยิ่งในการขับเคลื่อนสู่การเป็น "มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม"
โดยวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย ด้วยการริเริ่มและเปิดโอกาสทางการศึกษาเพื่อส่งมอบองค์ความรู้ พัฒนาทักษะและเสริมศักยภาพคนทุกช่วงวัย ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน
รวมถึงภาคประชาสังคมอย่างบูรณาการในโครงการ "การศึกษาแนวทางพัฒนาทักษะชีวิตและทักษะการบริหารจัดการสำหรับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม" หรือโครงการ "ADVOCATE" เพื่อเสริมสร้างให้บุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทักษะและศักยภาพพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ผู้สูงวัยและคนในชุมชน
การจัดงาน "ADVOCATE 2024" ถือเป็นเวทีแสดงผลสำเร็จของโครงการและผลลัพธ์จากความร่วมมือผสานกำลังเครือข่าย ร่วมพัฒนาท้องถิ่นของไทยที่จะนำไปสู่การขยายผลการขับเคลื่อนไปทั่วประเทศได้ในอนาคต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะร่วมต่อยอดการพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยและคนในชุมชนในวงกว้าง เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง
นายวิษณุ วิทยวราวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมในระดับฐานราก โดยมีบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้ขับเคลื่อนและบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลาย ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการสนับสนุน
จากผลสำเร็จของความร่วมมือที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการ ADVOCATE นี้ จะนําไปสู่การขับเคลื่อนท้องถิ่นของไทยอย่างเข้มแข็ง ด้วยบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีศักยภาพพร้อม ทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้สูงอายุและประชาชนทุกช่วงวัยเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต นําไปสู่การพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ให้สามารถต่อสู้กับความยากจนพร้อมเป็นกําลังขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.ปรารถนา ใจผ่อง ผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยในระดับสมบูรณ์ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างร่วมมือกันเพื่อดูแลและส่งเสริมกิจกรรมของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ที่เป็นหน่วยงานสำคัญหลักในพื้นที่ที่เข้าใจบริบทของชุมชนผู้ใกล้ชิดผู้สูงวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุ
ด้วยวิสัยทัศน์รวมทั้งพันธกิจของวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนในสังคม พร้อมส่งมอบคุณค่าทางการศึกษา ในการยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ จึงจัดทำโครงการการศึกษาแนวทางพัฒนาทักษะชีวิต และทักษะการบริหารจัดการสำหรับบุคลากรขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม หรือโครงการ “ADVOCATE” ซึ่งเป็นโครงการภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากรและผู้นำชุมชนของ อปท. จำนวน 80 คน ใน 8 พื้นที่นำร่อง จาก 4 จังหวัด ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดน่าน
โดยกระบวนการเรียนรู้แบบผสมผสานผ่านการเรียนรู้ออนไลน์ workshop และนำความรู้ที่ได้ไปทดลองปฏิบัติจริงฝึกปฏิบัติเสริมทักษะการทำงานและการบริหารโครงการ ผ่านชุดหลักสูตร “ฟูมฟักทักษะสำคัญในชีวิตและการทำงาน (Skills4Life)” ที่วิทยาลัยฯ ได้พัฒนาขึ้น พร้อมแนะนำแนวทางต่อยอดการส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้สูงวัยในชุมชน ต่อยอดการส่งเสริมธุรกิจและผลิตภัณฑ์จากผู้สูงวัยในชุมชน มากกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ ผ่านโครงการนำร่อง 8 พื้นที่ สร้างความร่วมมืออันดีในชุมชน เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.นัทธี สุรีย์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงผลสำเร็จของโครงการฯ ว่าการทำงานร่วมกันดังกล่าว ทำให้เกิดการหนุนเสริมกันและกันระหว่างบุคลากร อปท.กับผู้สูงวัย ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่น อาทิ หมอนสมุนไพรและเครื่องดื่มสมุนไพรที่ใช้พืชสมุนไพรท้องถิ่นจากเทศบาลตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
ถุงแช่เท้าสมุนไพรและถุงหอมสมุนไพรที่ใช้พืชท้องถิ่นพร้อมการจัดทำถุงด้วยฝีมือผู้สูงอายุของเทศบาลตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ผลิตภัณฑ์น้ำมันเหลือง-น้ำมันเขียวจากสวนสมุนไพรของเทศบาลตำบลสองแคว อำเภอดอยหล่อ จังหวัดเชียงใหม่ กล้วยหนึบแสงอาทิตย์และข้าวแต๋นจากเทศบาลตำบลท่าวังตาล อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ สินค้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าย้อมดิน ถิ่นครูบา ผลงานจากเทศบาลตำบลป่าไผ่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน
ช่อดอกไม้ประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์จากเส้นพลาสติกฝีมือผู้สูงวัยจากเทศบาลตำบลวังดิน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน น้ำมันนวดจากหญ้าเอ็นยืดและลูกประคบแห้งจากพืชท้องถิ่นที่ปลูกโดยผู้สูงวัยในเทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และผลิตภัณฑ์ผ้าพิมพ์ลายใบไม้ บ้านบุปผาราม ผลิตภัณฑ์เครื่อง จักสานไม้ไผ่ บ้านปัวชัย จากองค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน
ในงานยังมีการแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนและนวัตกรรมการเรียนรู้จากหน่วยงานเครือข่ายของโครงการฯ มากกว่า 10 หน่วยงาน จาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน อาทิ ชมรมผู้สูงอายุจังหวัดเชียงใหม่ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและล้านนาสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น
ปัจจุบัน “ADVOCATE” ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อสร้างความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills และ Management Skills แก่บุคลากร เพื่อการพัฒนากิจกรรมพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผู้สูงวัยในชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างรายได้หรือเกิดการสนับสนุนรายได้ให้กับกลุ่มวัยก่อนสูงอายุ (Pre-aging) และผู้สูงอายุ อันนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยในชุมชนอย่างยั่งยืน