สภาธุรกิจไทย-ลาว ผนึก 5 หอการค้าจังหวัดอีสาน MOU ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดจีน

14 ก.พ. 2567 | 07:48 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.พ. 2567 | 08:11 น.

ศูนย์ CIC CAMT สภาธุรกิจไทย-ลาว สมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ และ 5 หอการค้าจังหวัดภาคอีสานจับมือลงนามความร่วมมือสร้างช่องทางพัฒนาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง CBEC

ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี และหัวหน้าศูนย์  China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว และ นางจันทร์จิรา  อนันต์ชัยพัฒนา นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้

ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อสร้างช่องทางผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน ผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนไทย-จีน หรือ CBEC ซึ่งเป็นโอกาสที่เกิดขึ้นจากการส่งเสริมการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศของรัฐบาลจีน (ที่ต้องการลดการเกินดุลการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน) ผ่านการอนุญาตให้สินค้าที่อยู่ในพิกัดศุลกากรพิเศษที่มากกว่า 1,650 พิกัดภาษีฯ สามารถเข้าจำหน่ายในตลาดประเทศจีนได้ผ่านแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

 

ดร.ดนัยธัญ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมนำเอาสินค้าคุณภาพสูงของกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มหอการค้าอีสาน 5 จังหวัดนำร่องได้แก่ จังหวัดอุดรธานี ขอนแก่น มุกดาหาร อุบลราชธานี และจังหวัดหนองคาย เพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์มเรียนรู้การขายผ่าน CBEC ที่พัฒนาโดยศูนย์ CIC CAMT มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อทำการทดลองตลาด และทำความเข้าใจกระบวนการเข้าสู่ตลาดจีนจากการฝึกฝนจริง จากนั้นจึงทำการคัดเลือกสินค้าที่มีศักยภาพสูงเพื่อเข้าสู่แพลตฟอร์ม CBEC เต็มรูปแบบผ่าน CBEC คุนหมิงที่มีเครือข่ายร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนต่อไป  

สภาธุรกิจไทย-ลาว  ผนึก 5 หอการค้าจังหวัดอีสานเซ้น MOU ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดจีน

กระบวนการทั้งหมดจะช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้จริง ส่งเสริมให้เกิดมูลค่าการค้าผ่านรูปแบบการค้าชายแดนด้วยช่องทาง CBEC ที่จะทำให้ด่านศุลกากรทางถนนที่ อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย และการขนส่งระบบรางจากจังหวัดหนองคาย เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟลาว-จีน ที่นครหลวงเวียงจันทน์ของประเทศลาว กลายเป็นประตูการค้าสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ไทย

ด้าน ดร.จตุรงค์ บุนนาค ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว กล่าวว่า มิติความร่วมมือระหว่างสภาธุรกิจไทย-ลาว กับศูนย์ CIC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีนผ่านช่องทาง CBEC เท่านั้น

แต่ยังสามารถร่วมกับผู้ประกอบการ SMEs ประเทศลาว และบริษัทผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ของลาว เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบโลจิสติกส์ และระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนที่มีผลต่อต้นทุนธุรกรรมของ SMEs และทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกับผู้ประกอบการลาวเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางการค้าให้กับทั้งสองประเทศได้

 

ขณะที่นางจันทร์จิรา อนันต์ชัยพัฒนา นายกสมาคมนักธุรกิจไทยในจีนภาคตะวันตกเฉียงใต้ กล่าวว่าปัจจุบัน คลังสินค้าทัณฑ์บนที่คุนหมิงสามารถเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จีนได้หลากหลายแพลตฟอร์มไม่ว่าจะเป็น “Pin Duo Duo” “Taobao global” “Tmall Global” รวมไปถึง แพลตฟอร์ม “Kuai Shou” ที่เป็นรูปแบบแพลตฟอร์มนำเสนอสินค้าแบบคลิปวีดีโอสั้นโดย Influencer จีน ที่ทำให้รูปแบบการขายและโลจิสติกส์ด่วนในตลาดปลายทางสามารถเข้าถึงกลุ่มพื้นที่ตลาดใหม่ยุคดิจิทัลของจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาธุรกิจไทย-ลาว  ผนึก 5 หอการค้าจังหวัดอีสาน เซ็น MOU ผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดจีน

ดร.ดนัยธัญ กล่าวสรุปว่า กระบวนการทั้งหมดที่ถูกออกแบบจนนำไปสู่ Supply chain solution สำหรับ CBEC ที่ครบวงจรดังกล่าว จึงเป็นที่มาของบันทึกความร่วมมือเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสินค้าไทย และสร้างกำลังคนด้าน CBEC ไทย-จีน ซึ่งถือเป็นพันธกิจของศูนย์ CIC CAMT มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ได้รับงบประมาณวิจัยทั้งจาก “หน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท)” และ “กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง” เพื่อทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้าน CBEC ของภูมิภาคเชื่อมโยงการค้าและการขนส่งทางบกระหว่างจีน-อาเซียน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์  2567 ณ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

สำหรับมูลค่าการส่งออกในรูปแบบการค้าผ่านแดนจากไทยสู่จีน  มีดังนี้ 

ในปี พ.ศ. 2566 มูลค่าการส่งออกในรูปแบบการค้าผ่านแดนจากไทยสู่จีน อยู่ที่ 303,236.66 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.38 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขณะที่การนำเข้าสินค้าจีนสู่ไทยผ่านรูปแบบการค้าผ่านแดนอยู่ที่ 238,257.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ21.26 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้รูปแบบ CBEC ผ่านพิธีการศุลกากรเร่งด่วนตามด่านชายแดนถือเป็นทิศทางใหม่ในการสร้างมูลค่าการค้าผ่านแดนไทย-จีน ที่ปัจจุบันมีทั้ง1) ผ่านทางถนน R3A และรถไฟลาว-จีนสู่ด่านโม่ฮาน และคุนหมิง และ 2) เส้นทาง R9/R12 สู่ด่านผิงเสียง และหนานหนิง

ทั้งสองช่องทางมีทั้งด่านพัสดุภัณฑ์เร่งด่วนและด่านศุลกากรพิเศษทดลอง CBEC จึงถือเป็นหนึ่งในทิศทางเพื่อส่งเสริมให้ SMEs สามารถใช้ช่องทางโลจิสติกส์การค้าผ่านแดนเพื่อเข้าสู่ตลาดจีนแบบ CBEC ผ่านทั้งสองช่องทางให้มากขึ้น โดยศูนย์ CIC ตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด CBEC สินค้าไทยในจีนให้ถึงร้อยละ 5 ของมูลค่าการนำเข้าผ่าน CBEC​ ให้ได้ภายในปี 2570 โดยปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าผ่าน​CBECจีน​ มีมูลค่ารวมอยู่ที่ 570,000 ล้านหยวน(ตัวเลขปี พ.ศ. 2564)