KEY
POINTS
นายพงษ์ศักดิ์ ภัทรเมธีวิญญู ผู้อำนวยการโครงการบริหารห่วงโซ่อุปทานเมล็ดกาแฟดิบ และนายพงษ์พันธ์ จันทรภูมิ ผู้จัดการส่วนบริหารห่วงโซ่อุปทานเมล็ดกาแฟดิบ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (OR) ร่วมเปิดตัวจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกาจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรงในพื้นที่ภาคเหนือ
พร้อมทั้งแปรรูปกาแฟกะลาเป็นกาแฟสาร ก่อนที่จะจัดส่งกาแฟสารให้โรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน เพื่อคั่วและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟคาเฟ่
อเมซอน ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเผยถึงแผนการดำเนินโครงการอุทยาน คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon Park) ที่จังหวัดลำปาง เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจต้นน้ำของคาเฟ่ อเมซอน เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และเป็นการสร้างแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ณ จังหวัดลำปาง
นายพงษ์พันธ์ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ผู้บริหารแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเกษตรกรไทยผู้ปลูกกาแฟและได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดได้จัดตั้งจุดรับซื้อและโรงแปรรูปกาแฟคาเฟ่ อเมซอน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวมเครื่องจักร ประมาณ 130 ล้านบาท เพื่อเป็นจุดรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกา จากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟโดยตรงในพื้นที่ภาคเหนือ กำลังการผลิต1,900 ตัน/ปี การทำงานตามปกติ จันทร์-ศุกร์ แต่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตอีกได้ ปีนี้เป็นปีที่เริ่มทดลองตั้งเป้าไว้ที่ 625 ตัน
คาดว่าจะเริ่มเปิดรับซื้อผลผลิตเมล็ดกาแฟกะลาอะราบิกา ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 โดยรับซื้อเมล็ดกาแฟจากเกษตรกรในราคาที่เป็นธรรมและสอดคล้องตามราคากลไกทางการตลาด
พร้อมทั้งแปรรูปกาแฟกะลาเป็นกาแฟสาร ก่อนที่จะจัดส่งกาแฟสารให้โรงคั่วกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุทธยาเพื่อคั่วและจำหน่ายไปยังร้านกาแฟคาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ จำนวนสาขา 4,170 สาขา วอลลุ่มประมาณ 6,100 กว่าล้านบาทต่อปี
อีกทั้งยังเป็นศูนย์พัฒนาทักษะความรู้ในการปลูก ผลิต และแปรรูปกาแฟให้มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อให้เกษตรกรไทยปลูกกาแฟอย่างยั่งยืนอีกด้วย สำหรับการรับซื้อเมล็ดกาแฟกะลาจะรับซื้อจากเกษตรกรไทย (รายย่อย) ที่ได้รับเอกสารสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และไม่เป็นสมาชิกของมูลนิธิโครงการหลวง
นายพงษ์พันธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา OR ได้ร่วมกับหลากหลายหน่วยงานในการส่งเสริมการปลูกและรับซื้อกาแฟจากเกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกับมูลนิธีโครงการหลวง พัฒนา “โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวเขากว่า 800 รายในพื้นที่ดำเนินงานของสถานีเกษตรหลวงและศูนย์พัฒนาโครงการหลวงประมาณ 24 แห่ง ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน ให้มีช่องทางการจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่มั่นคง มีตลาดที่แน่นอน
โครงการจัดหาเมล็ดกาแฟจากชุมชน (CCS : Community Coffee Sourcing) เพื่อเป็นช่องทางให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและเกษตรกรมีช่องทางจำหน่ายเมล็ดกาแฟที่แน่นอน มีรายได้จากการซื้อขายในระบบราคาที่เป็นธรรม (Fair Trade) ควบคู่กับการพัฒนาความรู้ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกาแฟมาอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งยังมีโครงการที่ร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ อีกหลายโครงการ โดยตั้งแต่ปี 2558-2566 OR โดยคาเฟ่ อเมซอน ได้สนับสนุนเกษตรกรด้วยการเป็นตลาดรับซื้อกาแฟสารจากเกษตรกรไทยรวมแล้วกว่า 6,109 ตัน (6,109,000 กิโลกรัม) หรือคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,100 ล้านบาท
สำหรับทิศทางตลาดกาแฟในประเทศไทยในเรื่องของกลไกราคาตลาด ราคากาแฟในบ้านเราแปรผันไปตามราคาในตลาดโลกอยู่แล้ว และแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภค เมื่อก่อนคนไทยบริโภคกาแฟน้อยมาก ปัจจุบันนี้บริโภคสูงขึ้นพอสมควร แสดงว่าแนวโน้มโอกาสของตลาดกาแฟยังโตขึ้นมากกว่านี้ ไม่น้อยกว่า 2 เท่า เพราะฉะนั้นเชื่อว่าความต้องการของตลาดยังสูงแน่นอนอยู่แล้ว
ปัจจุบันนี้กาแฟไม่ต้องไปบริโภคที่ร้านเพียงอย่างเดียว ออกมาในรูปแบบของ กลุ่มโฮมยูธ กาแฟที่ชงดื่มเองที่บ้านได้ เริ่มมีกาแฟที่มีกระบวนการแปรรูปซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของกาแฟจริงก็หากาแฟบริโภคที่มีคุณภาพมากขึ้น ตลาดก็มีแนวโน้มที่เจริญเติบโต เพราะฉะนั้นเรื่องราคาแน่นนอนแนวโน้มน่าจะไปในทิศทางที่สูงขึ้น เพราะฉะนั้นดีมานด์ยังโตขึ้นเรื่อยๆ เราก็ยังมั่นใจว่ายังมีปริมาณกาแฟที่เพียงพอที่จะเติมธุรกิจ มุมที่ตลาดกาแฟ วันนี้ผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆเกิดขึ้น ร้านกาแฟใหม่ๆก็เกิดขึ้นเยอะมาก ธุรกิจร้านกาแฟ ยังจำประโยคที่มาทำงานช่วงแรกๆว่า เปิดสาขาวันและ 5 ปิดวันละ 10 แปลว่าธุรกิจกาแฟเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ คิดอะไรไม่ออกก็เปิดร้านกาแฟ
ด้าน นายพงษ์ศักดิ์ ภัทรเมธีวิญญู ผู้จัดการส่วนบริหารห่วงโซ่อุปทานเมล็ดกาแฟดิบ กล่าวว่า OR มีแนวคิดในการพัฒนาอุทยานคาเฟ่ อเมซอน (Café Amazon Park) บนพื้นที่กว่า 300 ไร่ ณ ตำบลกล้วยแพะ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คาเฟ่ อเมซอน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) ของคาเฟ่ อเมซอนให้ยั่งยืน โดย"อุทยาน คาเฟ่ อเมซอน" จะเป็นทั้งแปลงเพาะปลูก ศูนย์วิจัยและพัฒนากาแฟสายพันธุ์ดีโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่ทันสมัยและแนวทางการเกษตรแบบผสมผสานเพื่อต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจต้นน้ำ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา
อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาพื้นที่และพัฒนาชุมชนที่จังหวัดลำปางให้มีแลนด์มาร์คแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับธุรกิจกาแฟแบบครบวงจร โดยภายในอุทยานคาเฟ่ อเมซอน จะประกอบไปด้วย โรงเพาะกล้า ไร่กาแฟสาธิต กระบวนการปลูก พัฒนาผลผลิต ขั้นตอนการเก็บกาแฟเชอรี่ กระบวนการการสีเปียกเพื่อแปรรูปเป็นกาแฟกะลา โรงตาก โรงอบ จนถึงกระบวนการสีแห้งให้กลายเป็นกาแฟสารที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด ก่อนจะส่งผลิตภัณฑ์กาแฟที่ได้ไปยังโรงคั่วกาแฟที่ ศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์คาเฟ่ อเมซอน หรือ “โอเอซิส” (OASYS) อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อไป
การดำเนินงานทั้ง 2 โครงการดังกล่าว ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของ OR ที่ถูกผนวกเข้าไปกับการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่กลยุทธ์ แผนปฏิบัติการและเป้าหมายธุรกิจ และได้นำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม
สอดคล้องกับแนวทางการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนผ่าน OR SDG ทั้งในด้าน “S” หรือ “SMALL” การให้โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก ด้าน “D” หรือ “DIVERSIFIED” การสร้างโอกาสเพื่อทุกการเติบโตทุกรูปแบบ และด้าน “G” หรือ “GREEN” การสร้างสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายของ OR 2030
ตลอดจนสร้างโอกาสและยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน ตามวิสัยทัศน์ของ OR “Empowering All Toward Inclusive Growth” เพื่อเติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกันอย่างแท้จริง