ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดี และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดสัมมนาเปิดผลการทดลองขนส่งสินค้าทางรางจากไทยสู่เยอรมนีผ่านเส้นทางรถไฟ "ลาว-จีน-ยุโรป" เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา
การทดลองการขนส่งสินค้าทางรางครั้งนี้ เป็นโครงการทดลองร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรม ภายใต้การกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการด้านโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ของ ส.อ.ท. ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก บริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์จำกัด (มหาชน) บริษัทเอสซีจีเจดับบลิวดี โลจิสติกส์ และศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย ส.อ.ท. เป็นสื่อกลางในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากการขนส่งทางราง
ดร.ดนัยธัญ เปิดเผยว่า ผลการทดลองการขนส่งสินค้าผ่านรถไฟลาว-จีน-ยุโรป ที่มีระยะทางขนส่งสินค้าจากไทยไปยุโรป ทั้งสิ้น 13,911 กิโลเมตร (รถไฟ 13,111 กิโลเมตร) ใช้ระยะเวลา 29 วัน ทดลองขนส่ง"มาม่า"จำนวนหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์จากโรงงานผลิต “มาม่า" ของบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ที่ศรีราชา ไปขึ้นรถไฟจีนที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ ประเทศลาวสู่นครเฉิงตูเพื่อขึ้นรถไฟจีน-ยุโรปสู่ปลายทางเมืองท่าฮัมบรูกส์ประเทศเยอรมนี โดยมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งรวม 9,850 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ถือเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางเลือกสำหรับประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์ "วิกฤตทะเลแดง" ที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทย-ยุโรปทางเรือสูงเกินกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเพื่อยกระดับความร่วมมือระหว่าง CIC CAMT กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สายงานอาเซียนและโลจิสติกส์ทั้งสองฝ่ายจะมีการลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนากำลังคน CBEC และการวิจัยโลจิสติกส์ข้ามแดนระหว่างกันในช่วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ต่อไป
ทั้งนี้ นโยบายหลักของสาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วยผลักดันและส่งเสริมการค้าในรูปแบบ Cross Border Ecommerce (CBEC) โดยลงทุนจัดตั้ง Outbound Fulfillment Center เพิ่มขึ้นมากกว่า 2,000 แห่งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย ซึ่งได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้สามารถนำเงินออกไปลงทุน สนับสนุนบริการธุรกรรมด้านภาษี การรับชำระเงินจากต่างแดน การเดินพิธีการศุลกากรผ่านระบบดิจิทัล
โดย E-commerce Free Trade Zone ช่วยเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยสู่จีนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิง ซึ่งในปัจจุบันได้ดำเนินการทดลองขนส่งทางอากาศ โดยได้ส่งออกผลไม้สดของไทย ได้แก่ มะม่วงและมะพร้าวควั่น ผ่านช่องทาง E-commerce และขายผ่านช่องทาง Live-Commerce
ในส่วนของการขนส่งผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป โดยบริษัทขนส่ง China Railway Group มีขบวนรถไฟจีน-ยุโรปสะสมรวมทั้งสิ้น 81,000 ขบวน ดำเนินการไปถึงจุดหมายปลายทาง 217 แห่งใน 25 ประเทศในยุโรป อาทิ เยอรมนี คาซักสถาน รัสเซีย ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี อังกฤษ เชค ฮังการี เป็นต้น โดยเส้นทางรถไฟจีน-ยุโรป ช่วยลดการเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และช่วยผลักดันให้ภูมิภาคตะวันตกของประเทศจีนมีช่องทางการส่งออกและนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ
รวมไปถึงการส่งเสริมสินค้าส่งออกของประเทศไทยให้สามารถขนส่งสินค้า เช่น ผลไม้สดด้วยเส้นทางรถไฟสู่เมืองคุนหมิง และมุ่งสู่ปลายทางอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดค้าส่งเจียงหนาน (มณฑลกวางตุ้ง) ตลาดมณฑลสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซี และมณฑลเสฉวน ทั้งนี้การสร้างระบบใหม่สำหรับเศรษฐกิจแบบเสรี ผ่านการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นตัวดึงดูดการสร้างความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การบริหารจัดการ ที่ทำให้การนำเข้าและการส่งออกมีความคล่องตัวมากขึ้น