สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เท่ากับ 107.22 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเท่ากับ 108.05 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.77% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
ต่อกรณีดังกล่าวรศ.ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด แม้ว่าการที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 5 เดือนจะเข้าหลักเกณฑ์ของภาวะเงินฝืดตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่เงินเฟ้อต้องติดลบ 3 เดือนก็ตาม
แต่ภาวะเงินเฟ้อที่ติดลบจะต้องมาพร้อมกับการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพีติดลบ แต่ปัจจุบันจีดีพีของไทยที่ว่าชะลอตัวในไตรมาส 4/66 ยังขยายตัวได้ 1.7% อีกทั้งยังมองว่าไตรมาส 1/67 จะมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดีกว่าจากปัจจัยด้านการส่งออก
นอกจากนี้ การที่เงินเฟ้อลดลงก็ไม่ได้มาจากเหตุผลของกำลังซื้อลดลง โดยเห็นได้จากที่ปี 66 กำลังซื้อมีการขยายตัวได้ถึง 7% ส่วนปี 67 ก็มีคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้อีก 3% กว่า
อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการที่เงินเฟ้อลดลงมาจากราคาพลังงานที่รัฐบาลมีการอุดหนุน รวมถึงราคาอาหารที่ลดลง และสถานการณ์สินค้าราคาถูกจากจีนทะลักเข้าสู่ไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันได้ โดย 3 ประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อลดลงอย่างที่ปรากฎอยู่
นอกจากนี้ การว่างงานของไทยในปัจจุบันยังไม่ถึง 1% ดังนั้น โดยรวมแล้วจึงยังไม่เข้าข่ายภาวะเงินฝืดในความหมายอย่างสบูรณ์
หากถามว่า สัญญาณจากเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง 5 เดือนมีความน่าเป็นห่วงอย่างไรหรือไม่นั้น คงยังไม่ถึงกับมีอะไรน่ากังวล เพราะสถานการณ์ที่ควรจะต้องกังวล จะมาจากกำลังซื้อลดลง ประชาชนก็จะพยายามไม่ใช้จ่าย และทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวลง โดยเมื่อถึงจุดถึงก็จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แต่สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่เป็นไปในลักษณะดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ในความคิดเห็นส่วนตัวยังมองว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการขยายตัวช้าจากการส่งออกที่ติดลบ รวมถึงการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า ทำให้การกระตุ้นด้วยงบประมาณประจำ และงบทั่วไปติดลบทั้งหมด
ขณะที่ปีนี้เรื่องการส่งออกน่าจะเป็นบวก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็ยังคงดี ด้านการท่องเที่ยวก็ถือว่าดีมาก โดยเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยมากกว่า 35 ล้านคน เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวในประเทศที่ขยายตัวเกิดกว่า 100% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งเพียงแค่ท่องเที่ยวกับส่งออกก็มีสัดส่วนเท่ากับ 60% ของจีดีพี
อย่างไรก็ตาม ต้องเรียนว่าปีนี้ยังมีปัจจัยลบจากการที่รัฐบาลจัดตั้งได้ล่าช้า ทำให้การลงทุนจากถาครัฐอาจจะติดลบ แต่ตนก็ยังเชื่อว่าน่าจะเป็นบวก เพราะรัฐบาลมีการเร่งใช้งบประมาณให้เร็วขึ้น 2 สัปดาห์ และหากรีบใช้เงินงบประมาณที่ยังค้างอยู่ได้ประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ก็จะทำให้เศรษฐกิจปีนี้ยังขยายตัวถึง 3% ได้
"ยืนยันว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่น่าเป็นห่วงเรื่องภาวะเงินฝืด ซึ่งไม่เหมือนกับประเทศจีนที่เข้าสู่ภาวะเงินฝืดจากเงินเฟ้อที่ติดลบมากกว่า 10 เดือน"