นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์ไทยเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” ?

05 มี.ค. 2567 | 08:42 น.
อัปเดตล่าสุด :05 มี.ค. 2567 | 13:51 น.

นักเศรษฐศาสตร์ วิเคราะห์เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” คนไม่ซื้อสินค้า ราคาสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง หรือไม่ หลังตัวเลขเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 5 เดือน

ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ลดลง 0.77% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจกำลังเดินเข้าสู่ภาวะ "เงินฝืด” หรือ “Deflation” ที่มักจะเกิดในช่วงเศรษฐกิจถดถอย คนไม่ซื้อสินค้า ราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

"เงินฝืด” หรือ “Deflation” คืออะไร?

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อธิบายว่า ภาวะเงินฝืด เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการลดต่ำลงเรื่อยๆ เนื่องจากปริมาณสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่ผลิตออกมามีมากกว่าความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ ดังนั้น ผู้ผลิตจึงต้องลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้ขายได้ และลดการผลิตลง เพราะถ้าผลิตออกมาเท่าเดิมก็ขายได้ไม่หมด ผลที่ตามมาคือ การจ้างงานและการซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตก็จะลดลงตามไปด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว

ตามนิยามของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 4 ข้อ คือ

  1. อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเวลานาน 6 เดือนหรือ 2 ไตรมาส (prolonged period)  
  2. อัตราเงินเฟ้อติดลบกระจายในหลาย ๆ หมวดสินค้าและบริการ
  3. การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (ปกติดูที่ระยะ 5 ปี) ต่ำกว่าเป้าหมายระยะปานกลางอย่างมีนัย  
  4. อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบ และอัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น

เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเกิดภาวะเงินฝืดหรือไม่?

ฐานเศรษฐกิจ สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ ให้ความเห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เงินเฟ้อที่ติดลบมาจากราคาพลังงานที่ลดลง และราคาอาหารสดที่ลดลง แต่ต้องเร่งหาทางแก้ไข เพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น อัตราการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งเครื่องยนต์เศรษฐกิจด้านการบริโภคให้ลดต่ำลง และไม่เต็มศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นในช่วงข้างหน้าได้

ดร.ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการ Business Risk and Macro Research ศูนย์วิจัย Krungthai Compass วิเคราะห์ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในเดือนก.พ. 2567 ที่ลดลง 0.77% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่วนตัวมองว่า ยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแน่นอน 

เพราะสาเหตุสำคัญที่เงินเฟ้อทั่วไปลดลงยังคงมาจากการที่ราคาสินค้าที่ผันผวน ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหารสดที่ลดลง ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสดที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก รวมถึง ราคาน้ำมันดีเซล และค่าไฟฟ้าที่ราคายังอยู่ในระดับต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

“ถ้าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด ราคาสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อต้องลดลงทั้งหมด แต่ปัจจุบันหมวดที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญคือ ราคาพลังงานและอาหารสด ซึ่งกินพื้นที่ 33% ของสินค้าทั้งหมด ทำให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงบ้าง แต่ยังไม่ใช่เงินฝืดแน่นอน“ ดร.ฉมาดนัย ระบุ

ปัจจุบัน เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ยังคงเป็นบวกสูงขึ้น 0.43% ดังนั้น การที่เงินเฟ้อทั่วไปปรับตัวลดลง ยืนยันว่า มาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐ 

ขณะเดียวกัน การที่เงินเฟ้อทั่วไปลดลงในช่วงนี้ น่าจะไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นปัจจัยกดดันให้ ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในงวดการประชุมเดือนเมษายนนี้ เพราะสถานการณ์โดยรวมยังไม่เอื้ออำนวย ต้องรอดูปัจจัยชั่วคราวอย่างการลดค่าครองชีพจากมาตรการภาครัฐหมดไป ประกอบกับต้องจับตาราคาสินค้าเกษตรว่าได้รับผลกระทบจากภัยแล้งมากน้อยเพียงใดด้วย

“ถ้าแบงก์ชาติรีบลดดอกเบี้ย อาจเสี่ยงที่จะก่อปัญหาเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ไปจนถึงเงินทุนไหลออกได้ ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดในสถานการณ์ที่ยากเช่นนี้ มองว่ารัฐบาลน่าจะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ 2567 ควบคู่ไปกับมาตรการทางการคลังอื่น ๆ เพราะดูแล้ว ดิจิทัลวอลเล็ต อาจจะช้าเกินไป หรือ ไม่ได้ทำจริงแล้ว”  ดร.ฉมาดนัย กล่าว

ด้าน นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล. ลิเบอเรเตอร์ มองว่าเงินเฟ้อที่ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ส่งผลให้หลายฝ่ายเป็นกังวลว่านี่อาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้วหรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่า ไทยยังไม่เข้าสู่สภาวะเงินฝืด โดยหากไปดูที่ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมายังอยู่ในโซนสูง และอยู่ในโซนที่ค่อนข้างสูงตลอดทั้งปี 

ต่างจากปี 2565 ที่เป็นภาพของการค่อย ๆ ดึงขึ้น สัญญาณอัตราการเติบโต มี percent rate สูง แต่ปรับลดลงช่วงปลายปีก่อนและก็ปรับตัวลงไปติดลบ และลบต่อเนื่อง หากเทียบกับแล้วฐานในปีก่อนจึงยังถือว่าเฉลี่ยทั้งปียังทรงตัวในระดับที่สูง ทำให้ตัวเลขที่ออกมาจึงดูเหมือนลดลง

หากดูจากดัชนีเงินเฟ้อจะเห็นว่าปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ทรง ๆ ตัว แต่ถ้าตัดในส่วนของราคาพลังงานและเนื้อสัตว์ออกไปแล้ว ตัวเลขโดยรวมยังดูดี และเป็นบวกอยู่ ดังนั้น จึงมองว่ายังไม่น่ากังวลนักในเรื่องของเงินฝืด 

อย่างไรก็ดี ต้องมาจับตาดูต่อไปว่าภาครัฐจะมีการออกนโยบายในการประตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ ออกมาได้อีกมากน้อยแค่ไหน และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้เพิ่มแค่ไหนในช่วงที่เหลือของปีนี้

ขณะที่ ศ.ดร.อรรถกฤต ปัจฉิมนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองและงบประมาณ วิเคราะห์ว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปถ้าเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องจนจะใกล้ครบ 2 ไตรมาสก็อาจมีแนวโน้มว่าเข้าสู่ช่วงของเงินฝืดได้

แต่อย่างไรก็ดีในบริบทประเทศไทยนั้น ก็ต้องดูองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อพิจารณาประกอบกันว่าประเทศไทยเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นแล้วหรือไม่ ทั้งเศรษฐกิจชะลอตัว การลงทุนลดลง การบริโภคลดลง เกิดภาวะผลผลิตส่วนเกินมากขึ้น หรือมีภาวะเงินไหลออกไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังต้องดูเศรษฐกิจของประเทศหลัก ๆ ประกอบด้วยว่าเป็นอย่างไร

“เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากราคาพลังงานที่ลดลง และราคาอาหารสด แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบทุกอย่างประกอบกันหลาย ๆ มิติ ซึ่งถ้ามองแล้วถ้าสถานการณ์เงินเฟ้อถ้าติดลบแบบนี้ต่อไปนาน ๆ ก็มีความเสี่ยง เหมือนในต่างประเทศที่เกิดภาวะเงินฝืดไปแล้ว” ศ.ดร.อรรถกฤต ระบุ

ศ.ดร.อรรถกฤต กล่าวว่า ปัญหาของประเทศไทยตอนนี้มีเรื่องที่ต้องเร่งหาทางแก้ไขโดยด่วน เพื่อรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น อัตราการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งจะเป็นตัวฉุดรั้งเครื่องยนต์เศรษฐกิจด้านการบริโภคให้ลดต่ำลง และไม่เต็มศักยภาพ อีกทั้งยังเป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเงินฝืดเกิดขึ้นในช่วงข้างหน้าได้ และท้ายที่สุดจะส่งผลต่อภาพรวมเศรฐกิจมีความเสี่ยงเกิดภาวะถดถอยอีกด้วย

สิ่งสำคัญตอนนี้ มองว่า รัฐบาลควรโฟกัสไปที่เรื่องการส่งเสริมการจ้างงาน และพัฒนาทักษะแรงงานให้เพิ่มขึ้นเป็นหลักก่อน เพราะถ้าทำได้การดำเนินนโยบายอื่น ๆ จะสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจแน่นอน 

ส่วน ดร.นณริฏ พิศลยบุตร วิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม และเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า กรณีกระทรวงพาณิชย์ ประกาศเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ติดลบ 0.77% นั้นเป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตรกับราคาพลังงาน ซึ่งปกติมีความผันผวนสูง และรอบนี้มีมาตรการภาครัฐเข้ามากดให้ราคาต่ำผิดปกติ และเมื่อตัดส่วนนี้ออก ดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเติบโตแต่เติบโตแบบต่ำ (น้อยกว่า 1%) ถือได้ว่าอยู่ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเติบโตเล็กน้อย แสดงว่าเศรษฐกิจโตช้า แต่ไม่ถึงกับวิกฤติเงินฝืด 

ทั้งนี้มองว่า ถ้าดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานโตต่ำเป็นเวลานาน ๆ จะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะน่ากังวลใจเพราะธุรกิจจะไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าจ้างงาน ผู้บริโภคอาจจะชะบอการจับจ่ายใช้สอย แถมบางส่วนมีรายได้โตน้อย หรือบางคนรายได้ลดลง ก็ยิ่งไม่บริโภค ธุรกิจก็กำไรแย่ลง วนไปกลายเป็นเศรษฐกิจก็หมุนช้าลง และยิ่งถ้าเป็นภาพใหญ่ เช่น ธุรกิจใหญ่ ๆ กำไรไม่ดี ตลาดหุ้นจะซบเซา ทำให้ทรัพย์สินของคนชั้นกลางและคนรวยลดลง ก็ยิ่งใช้จ่ายลดลงไปอีก

ส่วนกรณีนโยบายภาครัฐที่เข้ามาช่วยลดค่าพลังงานต่อเนื่อง ยังจำเป็นอยู่ไหมนั้น ดร.นณริฏ ยอมรับว่า โจทย์สำคัญตอนนี้คือ รายได้รากหญ้าที่ฟื้นตัวช้า เครื่องมือที่เหมาะสม คือ การกระตุ้นเศรษฐกิจเฉพาะจุด การแทรกแซงราคาพลังงาน หรือ ลดค่าครองชีพพวกค่าไฟฟ้า เป็นเครื่องมือที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีส่วนรั่วไหลให้คนที่ไม่ใช่กลุ่มรากหญ้าได้ประโยชน์ไปด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการบิดเบือนกลไกตลาดทำให้ประชาชนไม่ปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับราคาสินค้าที่แท้จริง

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนก.พ. 2567 ติดลบเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันที่ -0.77% แต่ติดลบลดลงจาก -1.11% ในเดือนก่อนหน้า โดยเป็นผลมาจากการ ลดลงของราคาอาหารสดและราคากลุ่มพลังงานจากมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐเป็นหลัก ประกอบกับฐานราคาเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง

ขณะที่ หากหักราคาอาหารสดและพลังงานออก เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเล็กน้อยแต่ก็ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 0.43% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่มีสัญญาณอ่อนแอในเดือนมี.ค. 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะยังคงติดลบจาก 

1. มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพด้านพลังงานที่ยังมีอยู่ อาทิ การตรึงราคาค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาน้ำมันดีเซล 

2. ฐานที่สูงของราคาเนื้อสุกร 

3. แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่มีจ ากัดตามโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี

แม้ว่าเงินเฟ้อไทยจะติดลบต่อเนื่องแต่มองว่ายังไม่ใช่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้าง และหากไม่รวมมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ อัตราเงินเฟ้อของไทยจะยังคงเป็นบวก

ทั้งนี้เมื่อมองไปในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 2/2567 เป็นต้นไป เนื่องจากทางภาครัฐมีแนวโน้มลดการอุดหนุนราคาพลังงานและทยอยปรับขึ้นราคาพลังงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

นอกจากนี้ ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันให้เงินเฟ้อไทยปรับสูงขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นปรับสูงขึ้น ประกอบกับอาจมีแรงหนุนด้านอุปสงค์จากการฟื้นตัวอย่างต่อ เนื่องของภาคการท่องเที่ยวไทย

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปีนี้จะอยู่ที่ราว 0.8% ซึ่งต่ำกว่ากรอบเงินเฟ้อของธปท. ที่ 1-3% ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ธปท. จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้