ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน 2567 ขาย และ จำนอง กรมที่ดิน ได้กำหนดค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน โดยการทำธุรกรรมการซื้อ-ขายที่ดิน ผู้ซื้อและผู้ขายต้องไปที่สำนักงานที่ดินเพื่อดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์
ค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน
ขาย
1. ค่าธรรมเนียมจดทะเบียน เรียกตามราคาประเมิน ร้อยละ 2 (มีข้อยกเว้นในบางกรณี)
2. ค่าภาษี
ในเขตเทศบาล
ให้นำราคาประเมิน ลบด้วย ค่าใช้จ่ายเหมา ได้เท่าใดให้หารด้วย จำนวนปีที่ถือครอง จะเป็นเงินได้สุทธิ(เฉลี่ยต่อปี) ให้นำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์คือภาษีที่ต้องเสีย
ค่าภาษีนอกเขตเทศบาล
กรณีรับมรดกหรือรับให้มาโดยเสน่หา จะได้รับการลดหย่อน 200,000 ถ้าราคาประเมินไม่ถึงสองแสนถือว่าไม่ ต้องเสียภาษี ไม่ต้องคิดภาษีต่อไป
(แต่ภายในหนึ่งปีภาษี หากเคยได้ลดหย่อนมาแล้วบวกกับโอนครั้งต่อไป ลดหย่อนรวมกันต้องไม่เกินสองแสน )
ถ้าราคาประเมินเกินสองแสนให้นำราคาประเมิน ลบด้วย ค่าลดหย่อนสองแสน ได้เท่าใดนำไปหารด้วยสอง แล้วหารด้วย จำนวนปีที่ถือครอง จะเป็นเงินได้สุทธิ(เฉลี่ยต่อปี)ให้นำเงินได้สุทธิไปคำนวณภาษีตาม อัตราภาษี ได้เท่าใดให้คูณด้วยจำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์คือภาษีที่ต้องเสีย
ถ้าได้มากรณีอื่นนอกจากมรดกหรือรับให้มาโดยเสน่หา เสียเหมือนกับในเขตเทศบาล
3. ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
เรียกตามราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า ร้อยละ3.3 ถ้าเข้าลักษณะดังต่อไปนี้
ขายทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตให้จัดสรร
นิติบุคคลเป็นผู้ขาย(ทรัพย์ที่มีไว้ประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคล)
เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว
ทรัพย์ที่ขายนั้นได้มาภายในห้าปี ยกเว้นรับมรดกมาหรือมีชื่อในทะเบียนบ้านที่ขายไม่น้อยกว่า 1 ปี (ถ้าบ้านกับดินได้มาไม่พร้อมกันนับที่ได้มาหลัง)
4. ค่าอากร
เรียกตามราคาประเมินหรือราคาซื้อขาย แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า ร้อยละ 0.5
ให้
ค่าจดทะเบียน
การให้ในระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดานหรือระหว่างคู่สมรส เรียกตามราคาประเมิน ร้อยละ 0.5 นอกจากนี้ ร้อยละ 2
ค่าภาษี
มารดาให้บุตรหรือบิดาให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เสียภาษี
กรณีอื่นเสียเหมือนกับการขาย
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
มารดาให้บุตรหรือบิดาให้บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือทรัพย์ที่ให้นั้นได้มาทางมรดก ไม่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีอื่นเสียเหมือนกับการขาย
ค่าอากร
เรียกตามราคาประเมินหรือราคาทุนทรัพย์ แล้วแต่อย่างใดสูงกว่า ร้อยละ 0.5
จำนอง
1. ค่าธรรมเนียม
เรียกตามราคาจำนอง ร้อยละ 1 แต่อย่างสูงไม่เกิน 200,000 บาท (ใช้ในกรณีจำนองกับธนาคารพาณิชย์หรือนายทุนเอกชน)
2. ค่าอากร
เรียกตามราคาจำนอง(ยอดกู้ยืม) ทุก 2,000 บาท และเศษ เสียค่าอากร 1 บาท (ถ้าจำนองกับธนาคารอาจต้องชำระที่ธนาคาร แต่ถ้าจำนองกับนายทุนเอกชนอาจต้องชำระที่สำนักงานที่ดิน)
มรดก
ค่าธรรมเนียม
กรณีโอนมรดกระหว่างผู้บุพการีกับผู้สืบสันดาน หรือระหว่างคู่สมรส เรียกเก็บตามราคาประเมิน ร้อยละ 0.5
กรณีอื่น ร้อยละ 2
ลงชื่อคู่สมรส
ใช้ในกรณีที่สามีและภรรยา ขอให้จดทะเบียนลงชื่อสามีหรือภรรยาเพิ่มลงในเอกสารสิทธิ์ที่เป็นสินสมรส ค่าธรรมเนียมแปลงละ 50 บาท
เช่า
เช่ามีกำหนด 3 ปีขึ้นไป ต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่
1. ค่าธรรมเนียม
เรียกตามค่าเช่าตลอดเวลาที่เช่าหรือเงินกินเปล่าหรือทั้งสองอย่างรวมกัน ร้อยละ 1
2. ค่าอากร
ทุกจำนวนเงินค่าเช่า 1,000 บาท และเศษ เสียค่าอากร 1 บาท
ภาระจำยอม
1. ค่าธรรมเนียม
ถ้าไม่มีค่าตอบแทน เสีย 50 บาท
ถ้ามีค่าตอบแทน เรียกตามราคาค่าตอบแทน ร้อยละ 1
2. ค่าอากร
ถ้าไม่มีค่าตอบแทน ไม่เสีย
ถ้ามีค่าตอบแทน เสียร้อยละ 0.5
กรณีบุคคลธรรมดา
บัตรประชาชน พร้อมสำเนาที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
หนังสือเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล พร้อมสำเนาลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง (ถ้ามี)
ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนาลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21) ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
กรณีนิติบุคคล
หนังสือรับรองนิติบุคคล ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน
บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ที่มีอายุไม่เกิน 1 เดือน พร้อมรายละเอียดในบัญชีรายชื่อของนิติบุคคลที่สามารถซื้อที่ดินหรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างได้ โดยไม่ต้องขออนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าว ต้องมีหุ้นไม่ถึงร้อยละ 40 ของผู้ถือหุ้นทั้งหมด
รายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ซึ่งระบุวัตถุประสงค์ในการซื้อและแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในการซื้อ
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านของกรรมการผู้มีอำนาจลงนาม
หนังสือแสดงตัวอย่างลายมือชื่อกรรมการ
หนังสือมอบอำนาจ ในกรณีที่มอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ.
ที่มา: กรมที่ดิน