ลุ้นเปิดประมูลใหม่ ปม SCN ฉีกสัญญาซ่อมรถ NGV

08 มี.ค. 2567 | 01:42 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2567 | 01:47 น.

บอร์ดขสมก.ไฟเขียวตั้งคณะอนุกรรมการฯศึกษาปม SCN ฉีกสัญญาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสาร NGV แตะ 489 คัน หากตรวจสอบพบเอกชนทำผิด เตรียมยกเลิกสัญญา ส่อเปิดประมูลหาผู้รับจ้างรายใหม่เสียบแทน

KEY

POINTS

  • บอร์ดขสมก.ไฟเขียวตั้งคณะอนุกรรมการฯศึกษาปม SCN ฉีกสัญญาซ่อมบำรุงรักษารถโดยสาร NGV  489 คัน
  • หากตรวจสอบพบเอกชนทำผิด เตรียมยกเลิกสัญญา ส่อเปิดประมูลหาผู้รับจ้างรายใหม่เสียบแทน 

ที่ผ่านมาขสมก.มีแผนจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้โดยสาร แต่ปัจจุบันกลับพบว่า SCN ยกเลิกสัญญาซื้อขาย-ซ่อมบำรุงรักษารถ NGV 489 คัน กระทบแผนให้บริการรถโดยสารขาดระยะ

 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการบริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN ในฐานะสมาชิกของกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (กลุ่มร่วมทำงานฯ) มีมติให้กลุ่มร่วมทำงานฯ บอกเลิกสัญญาซื้อขายและซ่อมแซมบำรุงรักษารถยนต์โดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 489 คัน กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) นั้น เบื้องต้นเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการ (บอร์ด) ขสมก.ชุดใหม่มีมติเห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาการทำงานของเอกชนในช่วงที่ผ่านมามีการทำผิดสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่ คาดว่าคณะทำงานดังกล่าวจะเร่งรัดดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หากพบว่าเอกชนกระทำผิดจริงตามสัญญาจะเสนอต่อคณะกรรมการขสมก.พิจารณาขั้นตอนยกเลิกสัญญากับเอกชนต่อไป ในระหว่างนี้จะมีการศึกษาควบคู่กับแผนการจัดหารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ด้วย

 

“ตนได้กำชับขสมก.ให้เรียกผู้ประกอบการเพื่อเจรจาในกรณีที่ที่เอกชนไม่ได้ซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารฯตามที่กำหนด ส่งผลให้ประชาชนมีการร้องเรียน เนื่องจากการให้บริการรถโดยสารของขสมก.มีการขาดระยะ นอกจากนี้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ที่ผ่านมายังพบว่า ทางเอกชนที่รับเช่าช่วงไม่ได้มีการชำระเงินตามที่กำหนดจนถูกร้องเรียน ซึ่งภาครัฐได้มีการเร่งรัดในเรื่องนี้ตามสัญญา”
 

นางมนพร กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่เอกชนแจ้งสาเหตุการยกเลิกสัญญากับขสมก.เนื่องจากขสมก.ชำระเงินบางงวดล่าช้ากว่า 3 เดือน ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานตามสัญญานั้น ยืนยันว่าขสมก.มีงบประมาณสำหรับการชำระเงินในส่วนนี้ให้กับเอกชนมาตลอดและไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะชำระเงินล่าช้า หากเอกชนสามารถดำเนินการซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารแล้วเสร็จตามกำหนดพร้อมวิ่งให้บริการแก่ประชาชนได้จะทำให้ขสมก.มีรายได้ แต่เมื่อไม่มีรถโดยสารให้บริการเพียงพอ ทำให้ขสมก.ไม่มีงบประมาณเข้ามาบริหารจัดการค่าซ่อมบำรุงรักษา

 

“กรณีที่ขสมก.ชำระเงินค่าซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารฯกับเอกชนล่าช้าจะกระทบต่อแผนการจัดซื้อรถโดยสารในปัจจุบันหรือไม่ มองว่าการชำระเงินล่าช้าต้องพิจารณาเนื่องจากสาเหตุอะไร เพราะเท่าที่ทราบเมื่อถึงกำหนดครบการชำระเงิน ขสมก.ได้มีการสำรองงบประมาณค่าซ่อมบำรุงรักษาดังกล่าวไว้อยู่แล้วตามงวดการชำระเงิน ส่วนกรณีที่ภาครัฐจะมีการเยียวยาช่วยเหลือเอกชน ในกรณีที่ขสมก.ชำระเงินค่าซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารฯล่าช้าหรือไม่นั้น เรื่องนี้คงต้องพิจารณาสัญญาอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร”

 

สำหรับการยกเลิกสัญญาของเอกชนในครั้งนี้จะกระทบต่อแผนการจัดซื้อรถโดยสารในอนาคตของขสมก.หรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นคนละเนื้องาน เพราะแผนการจัดซื้อรถโดยสารจะดำเนินการโดยการเช่ารถโดยสารพลังงานไฟฟ้า (อีวี) เพื่อเร่งการให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งอยู่ในแผนฟื้นฟูของขสมก.

ทั้งนี้ในกรณีที่เอกชนยกเลิกสัญญานั้นมีสิทธิ์ที่ขสมก.จะเปิดประมูลหาผู้รับจ้างรายใหม่ ซึ่งมีระเบียบการจัดหาผู้รับจ้างอยู่แล้ว ส่วนจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้เมื่อไรนั้นจะต้องรอการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการศึกษาฯในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการขสมก.พิจารณา หากคณะกรรมการเห็นชอบแล้วจะเร่งรัดให้ขสมก.ดำเนินการเพื่อเปิดประมูลต่อไป

ลุ้นเปิดประมูลใหม่ ปม SCN ฉีกสัญญาซ่อมรถ NGV

นอกจากนี้ในประเด็นที่เอกชนไม่สามารถซ่อมบำรุงรักษารถโดยสารฯได้ตามกำหนดจนส่งผลกระทบต่อการให้บริการรถโดยสารของขสมก.จนเกิดความเสียหายนั้น เบื้องต้นขสมก.ได้มีการพิจารณาแนวเส้นทางที่มีความหนาแน่นของผู้โดยสารน้อยในช่วง Last Time ซึ่งจะนำรถโดยสารมาให้บริการเพื่อทดแทนในเส้นทางของรถโดยสารที่ขาดระยะในการรองรับประชาชนเดินทางให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน