ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปี 2566 ล่าสุดเปรียบเทียบขนาดเศรษฐกิจของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน อินโดนีเซียครองอันดับ 1 มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงสุด ตามด้วย ไทย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา บรูไน และลาว ตามลำดับ
5 อันดับแรก อินโดนีเซียมีมูลค่าจีดีพี 1.41 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ, ไทย 512,193 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, สิงคโปร์ 497,347 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ฟิลิปปินส์ 435,675 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเวียดนาม 433,356 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่เปรียบเทียบการขยายตัวของจีดีพีของ 10 ประเทศในอาเซียนปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ โดยขยายตัวเพียง 1.9% ต่ำสุดในภูมิภาค
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จีดีพีของประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ พึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก รองลงมาคือ ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตร โดยอาเซียนพึ่งพาภาคบริการเฉลี่ยสัดส่วน 52% ภาคอุตสาหกรรม 37.6% และภาคเกษตร 10% โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่เศรษฐกิจมาจากภาคบริการมากที่สุด ตามด้วยฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีการพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมในสัดส่วนเกินค่าเฉลี่ยมีเพียงอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ดีจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ประกาศ 8 วิสัยทัศน์ ในการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลกและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ได้แก่ ศูนย์กลางเมืองท่องเที่ยว ศูนย์กลางด้านการแพทย์และสุขภาพ ศูนย์กลางอาหาร ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางขนส่ง ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต ศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล และศูนย์กลางทางการเงิน
ในจำนวน 8 วิสัยทัศน์นี้ ณ ปัจจุบัน ที่ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ Hub ของภูมิภาคแล้ว ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ด้านอาหาร ด้านการแพทย์และสุขภาพ และด้านการบิน อย่างไรก็ตามใน 8 วิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศ ก็เป็นนโยบายที่ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ทำเช่นกัน แต่เป็นบางเรื่อง ไม่ทำทั้งหมดเหมือนประเทศไทย ซึ่งต้องแข่งขันกัน เช่น มาเลเซียต้องการเป็นศูนย์กลางการบิน ซ่อมและบำรุงศูนย์กลางโลจิสติกส์ ศูนย์กลางอาหารแห่งอนาคต และศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางการเงินและโลจิสติกส์ อินโดนีเซีย และเวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ของโลก) เป็นต้น
“หากประเทศไทยต้องการจะบรรลุความสำเร็จใน 8 วิสัยทัศน์ดังกล่าว ต้องสร้างบรรยากาศ และแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น พร้อมกับการปรับองคาพยพ และโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั้ง 8 ด้าน โดยปัจจัยบวกของไทยได้แก่ มีตำแหน่งที่ตั้งอยู่ตรงกลางของอาเซียน มีโครงสร้างพื้นฐานโดยรวมที่ดี มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีสินค้าเกษตรหลากหลายสามารถแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคตได้ และมีความเป็นอิสระในการใช้ชีวิต”
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีปัจจัยลบที่สำคัญได้แก่ นโยบายเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่องจากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ศักยภาพแรงงานยังมีไม่มากพอเพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ไม่อยู่บนเส้นทางหลัก BRI ของจีน ขาดเงินวิจัยและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ช้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน (ไทยภายในปี ค.ศ. 2065) ลดทอนการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ(FDI) ขาดแร่หายากที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่อินโดนีเซียและเวียดนามคู่แข่งสำคัญมีแร่ดังกล่าวจำนวนมาก และไทยยังขาดการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มตามเทรนด์สิ่งแวดล้อม
รองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยได้เร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุ 8 วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี โดยในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐ ต้องดำเนินการดังนี้ 1.กำหนดและเลือกอุตสาหกรรมเร่งด่วนที่ไทยมีศักยภาพจะไปถึงใน 4 ปีข้างหน้า 2.กระทรวงศึกษาธิการกำหนดและผลิตบัณฑิตเพื่อรองรับอุตสาหกรรมทั้งแปด 3.มีโรดแมปเดียวกัน ในหนึ่งอุตสาหกรรมที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง และกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จ (KPI) ร่วมกันใน 8 อุตสาหกรรม หรือในอุตสาหกรรมนำร่อง 4.จัดสรรงบประมาณในการวิจัยที่ตอบโจทย์กับ 8 อุตสาหกรรม 5.กำหนดให้มีการถ่ายทอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีจาก FDI ที่เข้ามาลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน และ 6.กำหนด Local Content ใน 8 อุตสาหกรรมให้ชัดเจน
ในส่วนของภาคเอกชน มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.บริษัทรายใหญ่เป็นผู้นำทางให้กับ SMEs และซัพพลายเออร์ของไทย 2.นำร่องและทำต้นแบบ 1 ใน 8 อุตสาหกรรม เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาของ SMEs 3.สร้างแนวร่วมการพัฒนา 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล SMEs (รวมถึงภาคเกษตร) และสถาบันการศึกษา เพื่อปรับโครงสร้างการผลิต (ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น) เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู้คู่แข่งได้ ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรไทยมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ด้าน นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานสฟอร์เมชัน กล่าวว่า ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของอาเซียน แต่ต้องเลือกที่ไทยมีความแข็งแกร่ง และมุ่งยกระดับลงลึกไปในรายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน ที่ไทยมีความแข็งแกร่งล้ำหน้าทางด้านระบบชำระเงิน และด้านการค้าปลีก ที่ไทยมีความแข็งแกร่ง ทั้งห้างสรรพสินค้า และอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงฟู้ดเดลิเวอรี่ อย่างไรก็ตามโจทย์สำคัญของประเทศคือ เรื่องของบุคลากรที่มีไม่เพียงพอ และต้นทุนค่าแรงสูง หากรัฐบาลสามารถเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จะช่วยดึงต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน
“ไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางภูมิภาค ที่ผ่านมีการเข้ามาลงทุนด้านดาต้าเช็นเตอร์ที่ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางดิจิทัลปีละแสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความต้องการใช้ดาต้าเซ็นเตอร์ และบริการใช้งานดิจิทัลในประเทศสูง”
อนึ่ง การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยประจำปี 2566 (World Digital Competitiveness Ranking 2023) ไทยอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ ดีขึ้น 5 อันดับ โดยด้านเทคโนโลยี ไทยอยู่อันดับ 15 (ดีขึ้น 5 อันดับ) ด้านความรู้ อยู่อันดับที่ 41 (ดีขึ้น 4 อันดับ) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต อยู่อันดับที่ 42 (ดีขึ้น 7 อันดับ) โดยไทยตั้งเป้าหมายให้อยู่ใน 30 อันดับแรก ภายในปี 2569
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3973 วันที่ 10 – 13 มีนาคม พ.ศ. 2567