การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ หรือ "กฎหมายน้ำเมา" ซึ่งที่ประชุมครม.เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ โดยในเนื้อหารายละเอียดของกฎหมายนั้น นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนตรวจอย่างละเอียดคำนึงถึงในทุกมิติ ทั้งมิติด้านสุขภาพ และมิติทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างสมดุล
โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้รับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไปประกอบความเห็นพิจารณาด้วย ก่อนนำเสนอคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปนั้น
ล่าสุด สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานต่าง ๆ รวม 21 ฉบับให้รับทราบมติครม. เกี่ยวกับ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ประกอบไปด้วย เลขาธิการนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ดังนี้
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม
รวมทั้งส่งถึงหัวหน้าหน่วยงาน ทั้ง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ อัยการสูงสุด
สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญของหนังสือของ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ระบุรายละเอียดว่า ในคราวประชุมครม. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี เห็นว่า มาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ จะต้องมีความสมดุลกัน ระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคมและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
โดยต้องมีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยลดปัญหาสุขภาพของประชาชน สร้างความปลอดภัยต่อสังคม และไม่ก่ออุปสรรคและภาระเกินสมควรแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และบริการ
นั่นเพราะปัจจุบันยังมีการกำหนดเวลาและสถานที่การจำหน่ายสุรา ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2515 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลา ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 ลงวันที่ 6 มกราคม 2558
จึงควรปรับปรุงมาตรการควบคุมการขาย ทั้งเรื่องเวลาและสถานที่ให้มีความยืดหยุ่น รวมทั้งควรปรับปรุงหลักเกณฑ์การควบคุมฉลาก บรรจุภัณฑ์ และมาตรการควบคุมการโฆษณาให้ชัดเจนและเหมาะสมกับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการ
ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุมจึงได้ลงมติรับทราบร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และมอบให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีนำข้อสังเกตของนายกรัฐมนตรีไปพิจารณา แล้วเสนอที่ประชุมครม. เพื่อพิจารณาพร้อมกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ อีกครั้งหนึ่ง