โวยพ.ร.บ.น้ำเมาสุดโหด เพิ่มโทษ-คุมเข้มโฆษณา ลิดรอนสิทธิ์นักดื่ม

06 มี.ค. 2567 | 17:35 น.

ทุนน้ำเมากุมขมับ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่สุดโหด เพิ่มบทลงโทษหนัก คุมเข้มโฆษณา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการบริโภคขั้นพื้นฐานคนไทย-ต่างชาติ ด้านสมาคมค้าปลีกฯ ประสานเสียงชี้กระทบขับเคลื่อนการท่องเที่ยว

KEY

POINTS

  • นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงมาตรา 32 (การโฆษณา) ชี้ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์
  • สมาคมค้าปลีกฯ ชี้กระทบขับเคลื่อนการท่องเที่ยว
  • ผู้ประกอบการโวยรัฐบาลกำลังตัดกำลังของผู้ประกอบการ

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ โดยสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่ ประกอบด้วย การกำหนดคำนิยามใหม่ ทั้ง “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์” “การสื่อสารการตลาด” และ “ผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”, การกำหนดปริมาณแอลกอฮอล์หากไม่เกิน 0.5% ไม่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, การเพิ่มหมวดว่าด้วยการโฆษณา โดยมีบทบัญญัติเรื่องการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การประชาสัมพันธ์ใดๆ โดยผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด

การเพิ่มอำนาจการกำกับเพิ่มเติมหน้าที่และอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มเติมได้ ตามกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดบทกำหนดโทษ เช่น เพิ่มเติมโทษในกรณีที่ฝ่าฝืนบริโภคเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ไม่เกิน 1 หมื่นบาท เพิ่มอัตราโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าจากเดิม “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็น “ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทำให้ผู้ประกอบการต่างมองว่ากฎหมายดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างหนัก

โวยพ.ร.บ.น้ำเมาสุดโหด เพิ่มโทษ-คุมเข้มโฆษณา ลิดรอนสิทธิ์นักดื่ม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กาง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับเต็ม เพิ่มโทษ-คุมโฆษณาเข้ม https://www.thansettakij.com/business/economy/590017

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) กล่าวแสดงความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ว่า โดยภาพรวม สมาคมฯ ไม่เห็นด้วยกับการปรับปรุงมาตรา 32 (การโฆษณา) ให้เข้มงวดขึ้นจากเดิมที่เข้มงวด ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ ความเข้มสุดโหดของร่างกฎหมายดังกล่าว คือการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเวลาในการดื่ม สถานที่ ห้างร้าน สถานบันเทิง รวมถึงโรงแรมฯ สร้างความเดือดร้อนเกินจำเป็นกับผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก

ในปี 2567 คาดการณ์ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยว 25-30 ล้านคน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพกำลังซื้อสูง หากกฎหมายห้ามดื่มนอกเวลาจำหน่ายเหล้าเบียร์มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการโรงแรม ห้างร้าน สถานบันเทิงต่างๆ ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ย่อมจะส่งผลให้การท่องเที่ยว หยุดชะงัก ถือเป็นการปิดกั้นโอกาสทางธุรกิจ ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยไม่ทราบถึงข้อกำหนดเวลาในการจำหน่าย ได้กระทบเช่นกัน ยิ่งกว่านั้น การห้ามดื่ม ยังเป็นการ “ลิดรอน” สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและผู้ประกอบการด้วย นอกเหนือจากที่ผ่านมา มีทั้งการห้ามโฆษณา ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

รวมถึงไม่เห็นด้วยกับมาตราอื่นๆ ของร่าง พ.ร.บ ของสาธารณสุขนี้ เช่น ห้ามดื่มในเวลาห้ามขายซึ่งความเดือดร้อนรวมไปถึงนักท่องเที่ยว บทบัญญัติที่ขาดความไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่สามารถปฏิบัติตามได้ถูกต้อง และเป็นเหตุให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการตีความ ก่อให้เกิดคดีการฟ้องร้องที่ไม่จำเป็น

นอกจากนี้ อัตราค่าปรับที่ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพหรือรายได้ของสถานประกอบการมิใช่หลักการที่ถูกต้องในการออกกฎหมาย โดยที่ 60-80% ของค่าปรับถูกหักเป็น สินบนรางวัล แก่เจ้าหน้าที่อันไม่เป็นไปตามหลักสากล อาจเป็นปัจจัยทำให้มีการแจ้งข้อกล่าวหาจับกุมเกินจำเป็น

“ยืนยันว่ามาตรการควบคุมแอลกอฮอล์จะต้องเหมาะกับสภาพการณ์ สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ โดยเฉพาะการผลักดันเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ โดยไม่สร้างภาระเดือดร้อนเกินสมควรต่อผู้ประกอบการ และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ต้องอยู่ในขอบเขตและไม่สุดโต่งจนเกินไป”

นางสาวเขมิกา กล่าวอีกว่า ควรปลดล็อกห้ามขายช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ก่อนเทศกาลสงกรานต์ พร้อมใช้กฎหมายเมาแล้วขับ และการขายให้ผู้อายุต่ำกว่า 20 ปีอย่างเข้มงวด และให้ความรู้เรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และวัฒนธรรมการดื่มอย่าง รับผิดชอบ “moderation” และ “drink better, not more” อย่างต่อเนื่องจริงจังโดยให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เป็นการปิดกั้นเกินความจำเป็นทั้งช่องทางการจำหน่ายและเวลาจำหน่าย ควรแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ

โวยพ.ร.บ.น้ำเมาสุดโหด เพิ่มโทษ-คุมเข้มโฆษณา ลิดรอนสิทธิ์นักดื่ม

ด้านนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานกรรมการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับเต็มใหม่ว่า ในมุมของการคุมเข้มจนเกินไปที่อาจจะส่งผลกระทบในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว

 “กลไกทางเศรษฐกิจสุดท้ายที่ประเทศไทยมีอยู่ในมือคือการท่องเที่ยว ภาครัฐควรทบทวนนโยบาย ข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกมาว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวหรือไม่ มากน้อยเพียงใด การกิน ดื่ม เที่ยว ถือเป็นพฤติกรรมการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ข้อบังคับที่คุมเข้มเกินไปจะก่อให้เกิดการปิดกั้นทางระบบเศรษฐกิจ”

พร้อมเสนอแนะแนวทางให้ยกเลิกกฎหมายห้ามขายระหว่าง 14.00-17.00 น.การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบการสถานบันเทิงให้สามารถจำหน่ายได้ตามเวลาที่ภาครัฐได้กำหนดไว้เดิม คือระหว่างเวลา 11.00-14.00 น. และ เวลา 17.00-00.00 น. แต่ต้องเน้นย้ำเรื่องวินัยในการดื่มแอลกอฮอล์ภายในบ้าน ไม่มีการจับกลุ่มสังสรรค์ หรือมั่วสุม ส่วนนโยบายที่คุมเข้มเกินความจำเป็นนั้น อาจส่งผลให้มีการลักลอบจำหน่ายรวมถึงการลักลอบการผลิตเหล้าเถื่อนเพิ่มขึ้น

 ขณะที่นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ผู้ประกอบโมเดิร์นเทรด “ตั้งงี่สุน” แห่งจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบค้าส่ง-ค้าปลีก ที่มีลูกค้าเป็นผู้ประกอบการสถานบันเทิงค่อนข้างมาก ทำให้ได้รับผลกระทบโดยตรง เดิมทีการซื้อขายแอลกอฮอล์ก็ยากลำบากเกินพอแล้ว ยิ่งกฎหมายฉบับใหม่คุมเข้มกว่าเดิมผู้ประกอบรายย่อยหายใจลำบากมากขึ้น และเห็นด้วยว่ากับผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทยเรื่องการปลดล็อกเวลาการจำหน่าย

“ในฐานะผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำตามนโยบายที่เป็นข้อบังคับทางกฎหมายอยู่แล้ว ต่อให้ได้รับผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องดำเนินธุรกิจแบบตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เพราะรัฐบาลกำลังตัดกำลังของผู้ประกอบการในมุมของการลดช่วงเวลาการซื้อสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ที่ไม่สมเหตุสมผล อยากให้รัฐบาลมองภาพใหญ่ว่าสินค้าดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของผู้ประกอบการรายย่อยได้”