CIMB Thai หั่นคาดการณ์จีดีพีไทยปี67 เหลือ 2.3% "บริโภค-ลงทุนรัฐ-ส่งออก"ฉุด

13 มี.ค. 2567 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2567 | 05:26 น.

CIMB Thai ชี้ 3 ปัจจัย การบริโภคซบเซา ลงทุนภาครัฐทรุดตัว และส่งออกฟื้นตัวช้า ฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 โดยปรับลดเป้าจีดีพีเหลือ 2.3% จากเดิม 3.1%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) เปิดเผยว่า สำนักวิจัยฯ ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2567 ลงเหลือ 2.3% จากเดิมมองไว้ที่ 3.1% ซึ่ง GDP 2.3% เป็นระดับที่ต่ำมากอีกปีหนึ่ง เกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก การบริโภคคนไทยซบเซา การลงทุนภาครัฐทรุดตัว และ การส่งออกฟื้นตัวช้า

 

การบริโภคของคนไทยเผชิญความเสี่ยงมากกว่าที่คาด โดยเริ่มเห็นสัญญาณอ่อนตัวของการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวกับการใช้จ่ายโดยทั่วไปในการชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ของ GDP สาเหตุหลักเกิดจากรายได้ครัวเรือนฟื้นตัวช้า แม้ว่าการท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมาจะสนับสนุนการใช้จ่ายได้บ้าง แต่ยังกระจุกตัวแค่บางทำเล บางธุรกิจ ขณะที่ภาคการเกษตรอ่อนแอจากการชะลอตัวของการจ้างงานในภาคการผลิต แม้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในบริการและสินค้าไม่คงทนเป็นการชั่วคราว แต่ก็น่าจะไม่เพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบจากรายได้ที่อ่อนแอ

การลงทุนภาครัฐ แม้ทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาครัฐยังไม่ผ่านเรื่องงบประมาณจนถึงเดือนเมษายน แต่จากการพิจารณาตัวเลขเดือนต่อเดือนเห็นชัดว่า การลงทุนภาครัฐทรุดตัวหนักกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า การใช้จ่ายงบต่างๆ ล่าช้า กระทบความเชื่อมั่นของเอกชน อาจทำให้เอกชนชะลอการลงทุน โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่มีการกระจายเม็ดเงินสูง หากชะลอตัวต่อเนื่องจนถึงเดือนเมษายนจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวหนักกว่าที่คาด การขาดการลงทุนสาธารณะคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทางลบเพิ่มเติม

การส่งออกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด จากการที่ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์มากจากการฟื้นตัวของตลาดโลก เพราะปัจจัยต่างประเทศมีความผันผวน ทั้งตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก กระทบการส่งออก และกระทบไปสู่การผลิตในประเทศ

ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวเฟดอาจเลื่อนปรับดอกเบี้ยนโยบายจากพฤษภาคมเป็นมิถุนายน ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ส่งผลให้บาทอ่อนค่า โดย CIMB Thai คาดการณ์ว่า เงินบาทจะอ่อนค่าถึง 37.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในสิ้นปี 2567 จากการประเมินก่อนหน้านี้ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยคาดว่าจะปรับลดเร็วสุดน่าจะเป็นเดือนเมษายน จาก 2.50% เป็น 2.25% และจะลดอีกครั้ง เหลือ 2.00%

อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยคงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นเพียงการพยุงชั่วคราว เพราะปัญหาเชิงโครงสร้างของไทยยังมีอยู่ เช่น ขาดการลงทุนจากต่างชาติ การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวน้อย การขาดทักษะแรงงานสัมคงสูงอายุของไทย ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ 3% ในระยะยาว และไม่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ จึงอยากเห็นมาตรการภาครัฐในการเร่งปรับปรุงปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ และเน้นศักยภาพของไทยโตขึ้นได้ในอนาคต

ความท้าทายและโอกาสทางเศรษฐกิจ

มองไปข้างหน้า ครึ่งแรกของปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงภาวะชะงักงัน เนื่องจากการใช้จ่ายของครัวเรือนที่อ่อนแอ การลงทุนภาคเอกชนที่ซึม และการจ่ายเงินงบประมาณที่ล่าช้า อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของปีอาจเห็นการเติบโตที่เร่งขึ้น ซึ่งขับเคลื่อนโดยการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ ความมีเสถียรภาพทางการเงินยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างระมัดระวัง

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จะสร้างความเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ขณะที่เศรษฐกิจไทยน่าจะเร่งขึ้นแรงในช่วงครึ่งปีหลังจากแรงส่งภาครัฐซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญและการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยสำนักวิจัยจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป