วันนี้ (14 มีนาคม 2567) เวลา 16.00 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมหารือกับนางจีนา เอ็ม. เรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย ที่ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังจากเดินทางกลับจากการเยือนฝรั่งเศส และเยอรมนี ตั้งแต่วันที่ 7- 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
พร้อมกันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ยังนำนาย Mark Ein ประธานสภาผู้ส่งออกแห่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (The President’s Export Council: PEC) และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เพื่อแสวงหาแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนด้วย
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การเดินทางของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ มีประเด็นน่าสนใจต้องจับตา นั่นคือ การหารือร่วมกันกับนายกรัฐมนตรี เพื่อหาช่องทางการผลักดันการลงทุนผลิตเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐใน 14 ประเทศสมาชิกความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจในการลงทุน
สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ ถือเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ โดยเป็นส่วนประกอบสำคัญที่มีความต้องการในตลาด เพื่อใช้ในอุปกรณ์เทคโนโลยีหลากหลายประเภท ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำหรือวัสดุที่มีคุณสมบัติกึ่งนำไฟฟ้า เป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือสื่อสาร รถยนต์ และสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ
ที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศความพร้อมของประเทศไทยว่า มีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิต เนื่องจากความพร้อมทางด้านทรัพยากร การจัดตั้งภาคอุตสาหกรรม รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับประเทศอื่น ๆ จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นอย่างมาก
โดยภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก และเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายที่ใช้ส่วนประกอบจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เหมาะแก่การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการพัฒนาเพื่อใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้ได้โดยเร็ว อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เป็นโอกาสสำคัญสำหรับการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศไทย
จากข้อมูลของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ยังเผชิญกับภาวะความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทั้งจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และปัญหาห่วงโซ่การผลิตที่สะดุดลง ปัจจุบันความต้องการใช้เซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการก้าวไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ขณะที่โลกยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากปัญหาห่วงโซ่อุปทานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์สะดุด จากปัญหาสงครามการค้าและลุกลามมาเป็นสงครามเทคโนโลยีระหว่างจีนกับสหรัฐฯ การแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่เป็นแรงกดดันให้ราคาวัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานจะเริ่มคลี่คลายลงจากการกลับมาผลิตได้มากขึ้น
แต่ในระยะข้างหน้า ยังคงต้องจับตามองทิศทางและความสมดุลของอุปสงค์และอุปทานเซมิคอนดักเตอร์โลก เนื่องจากอุปสงค์มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวสูงขึ้นอีกครั้งตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ห่วงโซ่อุปทานการผลิตยังมีความเสี่ยงรุมเร้าอยู่อีกหลายด้าน ทำให้บางประเทศพิจารณาการย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่มีศักยภาพการผลิตสูง
สำหรับยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ ที่ผ่านมาในปี 2564 พบว่า มีมูลค่าสูงถึง 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ไทยเองจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า ปี 2564 การค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทยมีมูลค่า 28,885 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.1% แบ่งเป็น การส่งออก 11,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 15.4% และการนำเข้า 17,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 24.9%
ส่วนการค้าเซมิคอนดักเตอร์ของไทย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แผงวงจรไฟฟ้า (IC) และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทยในปี 2564 ได้แก่ ฮ่องกง 24.1% รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ส่วนการนำเข้า ได้แก่ ไต้หวัน 26.7% รองลงมาคือ จีน และญี่ปุ่น
โดยเซมิคอนดักเตอร์ยังมีความสำคัญต่อการส่งออกไทยทางอ้อม เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักของไทยมีเซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 และ 2 ของไทยด้วย