14 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต ร่วมกับ เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง, เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ, เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง เข้ายื่นหนังสือถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มโทษเมาแล้วขับชนคนตายให้ติดคุกจริง ไม่รอลงอาญา และขอคัดค้านการแก้ไข พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้อ่อนแอ เอื้อประโยชน์ธุรกิจ
นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลมีนโยบายอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิงถึงเวลา 04.00 น. ซึ่งได้สร้างผลกระทบกับสังคมมากมายโดยเฉพาะเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้รถใช้ถนน ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุมีนักท่องเที่ยวยามราตรีในจังหวัดสุรินทร์ ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้านเหล้าตลอดทั้งคืน ขับรถชนนักปั่นจักรยานบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ช่วงเวลา 06.20 น.
เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บอีก 3 ราย กลายเป็นข่าวสะเทือนใจประชาชนและเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางซึ่งที่ผ่านมา มีรายงานคนบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุเมาแล้วขับเช่นนี้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่องเปิดสถานบริการได้ถึงตี 4
เรื่องนี้ทำให้เกิดคำถามต่อถึงนโยบายของภาครัฐ ที่พยายามขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยังมีความพยายามแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้อ่อนแอลง เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงผู้ประกอบการร้านเหล้า ผับ บาร์ แต่กลับละเลยผลกระทบทางสังคมที่จะตามมาทั้งอุบัติเหตุความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อาชญากรรมและการคุกคามทางเพศซึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล้วนเป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญทั้งสิ้น นางสาวเครือมาศ กล่าว
นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต และภาคีเครือข่ายฯ มีจุดยืนและข้อเสนอ ดังนี้
1.ขอให้รัฐบาลเร่งพิจารณาแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก เพื่อเพิ่มโทษเมาแล้วขับทำผู้อื่นเสียชีวิต ให้ติดคุกจริงโดยไม่รอลงอาญา
2.ขอคัดค้านการแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่มีเนื้อหาลดทอนประสิทธิภาพการควบคุม และเอื้อประโยชน์ให้นายทุน ธุรกิจ ผู้ประกอบการร้านเหล้าผับบาร์ เพียงเพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว แต่กลับเพิ่มผลกระทบทางสังคมทุกด้าน
3.การแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ควรทำให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น อาทิ ห้ามใช้ตราเสมือนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำการโฆษณาสื่อสารการตลาด การเพิ่มโทษให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิด กรณีขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้คนเมาแล้วก่อความเสียหาย รวมถึงกรณีขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี
4.ขอให้รัฐบาลเร่งนำร่างแก้ไข พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ฉบับของกระทรวงสาธารณสุข เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้สภาฯ มีมติรับร่างแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อีก 3 ฉบับ ของภาคประชาชนและพรรคก้าวไกลเพื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการในคราวเดียวกัน เพื่อให้เกิดความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ