"พิมพ์ภัทรา" หนุน "Green Productivity" ตอบโจทย์กติกาการค้าโลก

15 มี.ค. 2567 | 03:17 น.
อัปเดตล่าสุด :15 มี.ค. 2567 | 03:17 น.

"พิมพ์ภัทรา" หนุน "Green Productivity" ตอบโจทย์กติกาการค้าโลก เดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการปรับเปลี่ยนของกติกาโลก โดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) และการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งกระทรวงพลังงานมีนโยบาย Green Energy ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบาย Green Industries สอดรับกัน

อย่างไรก็ดี นโยบายอุตสาหกรรมจะต้องสนับสนุน Green Productivity เพื่อตอบโจทย์กติกาการค้าโลก ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานสะอาด เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างบรรยากาศการลงทุน และเน้นย้ำการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน เช่น 

  • การจัดหาไฟฟ้าสีเขียวด้วยกระบวนการรับรองอย่างมีมาตรฐานและมีปริมาณเพียงพอ รองรับความต้องการพลังงานสะอาดของภาคอุตสาหกรรม โดยมีนโยบายส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG และภายใต้โครงการไฟฟ้าสีเขียว หรือ UGT (Utility Green Tariff) จะยกระดับอุตสาหกรรมรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเพิ่มขึ้น
     
  • ประสานภาคเอกชน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคศูนย์การค้า ภาคโรงแรม และภาคบริการ พบว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นทำให้มีผู้ประกอบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้น

"พิมพ์ภัทรา" หนุน "Green Productivity" ตอบโจทย์กติกาการค้าโลก

ทั้งนี้ กฎหมายโรงงานกำหนดให้การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปกำลังผลิตเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องขอใบอนุญาตโรงงาน (รง.4) ซึ่งเร่งแก้กฎกระทรวงเพราะเทคโนโลยีพัฒนาไปเร็วทำให้ผลิตไฟฟ้าได้ปริมาณมาก หรือพื้นที่ติดตั้งลดลงถึง 2.7 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2557 และลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 500 tCO2/เมกะวัตต์/ปี เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 62,500 ต้น

  • การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มสนับสนุนมาตรการ EV3.0 และเพิ่มเป็นมาตรการ EV3.5 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ส่งเสริมการลงทุน EV ประมาณ 40,000 ล้านบาท และปี 2567 มีหลายบริษัทเริ่มการผลิตในไทย
     

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยนั้น ติดในท็อป 10 ของผู้ผลิตยานยนต์และ EV ของโลก โดยที่ปัจจุบันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องปรับสู่การผลิตยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สอดคล้องทิศทางตลาดโลก

"นายกฯ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งเดิมไทยเป็นศูนย์กลางส่งออกรถพวงมาลัยขวาต้องอยู่ได้ โดยปรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องมือแพทย์ ยุทโธปกรณ์”