thansettakij
กางเงื่อนไข "ตึกสตง." เคลมประกันวินาศภัย หลังถล่มจากแผ่นดินไหว

กางเงื่อนไข "ตึกสตง." เคลมประกันวินาศภัย หลังถล่มจากแผ่นดินไหว

30 มี.ค. 2568 | 09:57 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มี.ค. 2568 | 12:54 น.

นายกสมาคมประกันวินาศภัย เผย ตึกสตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว ทำประกันประเภท Construction All Risk มูลค่า 2,136 ล้านบาทกับ 4 บริษัท ระบุเงื่อนไขการเคลมต้องสร้างให้ตรงสเปค

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ระหว่างสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย วันที้ 30 มีนาคม 2568 ว่า ในด้านของสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคธุรกิจประกันวินาศภัย เรามีการเตรียมความพร้อมและดำเนินการอย่างเร่งด่วนทันทีที่เกิดเหตุการณ์

 

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

 

ได้มีการตั้งทีมงานขึ้นมาทั้งในส่วนของสมาคมประกันวินาศภัยไทยเอง และในส่วนของแต่ละบริษัทประกันภัย ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือกับทุกบริษัทประกันภัย ไม่เพียงแต่บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงเท่านั้น แต่รวมไปถึงบริษัทที่อาจจะไม่ได้มีการรับประกันภัยในโครงการที่ได้รับความเสียหาย ให้ร่วมกันทำหน้าที่ในการรับเรื่องราวและประสานงานเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารของเหตุแผ่นดินไหวในครั้งนี้

จากนั้น ดร.สมพร อธิบายละเอียดเกี่ยวกับความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละประเภท ได้แก่ 1. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย 2. ประกันภัยสำหรับอาคารชุด 3. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับสถานประกอบการและร้านค้า 4. ประกันภัยความเสี่ยงทรัพย์สิน (Industrial All Risk) 5. ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption) 6. ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Construction All Risk) 7. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และ 8. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ

 

กางเงื่อนไข \"ตึกสตง.\" เคลมประกันวินาศภัย หลังถล่มจากแผ่นดินไหว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในส่วนของ ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Construction All Risk) ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนอย่างมาก โดย ดร.สมพร อธิบายด้วยว่า กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า Construction All Risk (CAR) เป็นประกันภัยสำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้าง งานปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรืองานติดตั้งเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดหมาย รวมถึงแผ่นดินไหว

กรมธรรม์ประเภทนี้แบ่งความคุ้มครองออกเป็น 3 ส่วนหลัก

 

1. ความคุ้มครองงานก่อสร้างและงานวิศวกรรมโยธาโดยตรง

  • คุ้มครองความเสียหายของตัวงานก่อสร้าง เช่น โครงสร้างอาคาร วัสดุก่อสร้าง โดยกำหนดทุนประกันภัยเป็นมูลค่าโครงการทั้งหมด ความคุ้มครอง ณ ขณะที่เกิดเหตุจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของการก่อสร้าง ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นไปตามสัญญาการจ่ายเงินค่างวดงานก่อสร้าง

 

2. ความคุ้มครองเครื่องจักรที่ใช้ในการก่อสร้าง

  • คุ้มครองความเสียหายของเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ใช้ในการก่อสร้างและติดตั้งในโครงการ

 

3.ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

  • คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของบุคคลภายนอก และความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานก่อสร้าง

 

กางเงื่อนไข \"ตึกสตง.\" เคลมประกันวินาศภัย หลังถล่มจากแผ่นดินไหว

 

โดยทั่วไป กรมธรรม์ประกันภัยการก่อสร้างให้ความคุ้มครองถึงแผ่นดินไหวด้วย อาจมีหรือไม่มีวงเงินจำกัดความรับผิดขึ้นอยู่กับแต่ละสัญญาประกันภัย อย่างไรก็ตาม มักจะมีข้อยกเว้นในเรื่องของการออกแบบที่ผิดพลาด (Faulty Design) การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญในกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้น

 

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับการทำประกันภัยของโครงการอาคาร สตง. ที่ถล่ม ดร.สมพร กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีการทำประกันภัยในลักษณะของการก่อสร้าง หรือที่เรียกว่า Construction All Risk (CAR) มูลค่ารวม 2,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าโครงการก่อสร้างทั้งหมด โดยมีบริษัทประกันภัย 4 แห่งที่ร่วมกันรับประกันภัย ได้แก่

  • บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 40%
  • บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 25%
  • บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 25%
  • บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) รับประกันสัดส่วน 10%

 

"ผมขอย้ำว่า ทั้ง 4 บริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันโครงการนี้ล้วนเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี โดยได้มีการจัดทำประกันภัยต่อ (Reinsurance) ไว้อย่างครบถ้วนตามหลักการบริหารความเสี่ยงที่ดีของธุรกิจประกันภัย ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลว่าบริษัทประกันภัยจะไม่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ หรือจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัท"

 

กางเงื่อนไข \"ตึกสตง.\" เคลมประกันวินาศภัย หลังถล่มจากแผ่นดินไหว

 

กรมธรรม์ประกันภัยนี้แบ่งความคุ้มครองเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

1.ความคุ้มครองโครงสร้างหรือตัวโปรเจ็ค: มูลค่า 2,136 ล้านบาท ซึ่งเป็นความคุ้มครองสำหรับตัวงานก่อสร้างอาคาร โครงสร้าง และวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง

2.ความคุ้มครองทรัพย์สินที่ใช้ในการก่อสร้าง (Pre-existing Property): มูลค่า 5 ล้านบาท คุ้มครองเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง

3. ความคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก: มูลค่า 100 ล้านบาท คุ้มครองความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง

 

การประเมินมูลค่าความเสียหายจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของโครงการ ณ ขณะที่เกิดเหตุแผ่นดินไหว ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ว่าการก่อสร้างได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใดและมีมูลค่าเท่าใด จากข้อมูลที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ มีการรายงานว่าโครงการมีความคืบหน้าในการก่อสร้างไปแล้วประมาณ 46-60% ของโครงการทั้งหมด

 

กรมธรรม์นี้มีส่วนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง (Deductible) อยู่ที่ 20% ของความเสียหาย ซึ่งหมายความว่าเมื่อมีการประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว บริษัทประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหลังจากหักส่วนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังตอบคำถามถึงประเด็นที่มีการตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน และการก่อสร้างไม่ตามสเปคจะต้องจ่ายเงินประกันหรือไม่ โดยอธิบายบนหลักการกว้างๆว่า  การออกแบบที่ผิดพลาด หากมีการพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดจากการออกแบบที่ไม่เหมาะสมหรือผิดพลาด อาจเข้าข่ายข้อยกเว้นในกรมธรรม์ รวมทั้งการใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐาน หากมีการใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ก็อาจเข้าข่ายข้อยกเว้นเช่นกัน และการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามหลักวิศวกรรม หากมีการก่อสร้างที่ไม่เป็นไปตามแบบหรือหลักการทางวิศวกรรมที่ถูกต้อง ก็อาจเป็นข้อยกเว้นในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน

 

"ประเด็นเหล่านี้จะต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือสถาบันทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่เป็นการตัดสินโดยบริษัทประกันภัยเพียงฝ่ายเดียว"