นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงมีเป้าหมายสำคัญในการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาล โดยล่าสุดกำลังเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ซึ่งจะมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน
โดยกระทรวงฯได้ทำหนังสือ หรือทำเรื่องเสนอเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนต่อไปก็เพียงรอให้นายกฯเป็นผู้ตัดสินใจลงนามจัดตั้ง และจะเป็นประธานคณะกรรมการฯด้วยตนเองหรือไม่
"การจัดตั้งคณะกรรมการฯ ไม่ต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากอยู่ในองค์ประกอบของภาพรวมที่นำเสนอเพื่อการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางในภูมิภาคที่ผ่าน ครม. ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องดำเนินการตามระเบียบ ตามขั้นตอนให้ถูกต้อง"
สำหรับการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลในระยะต่อไป เนื่องจากจะต้องใช้เวลาระยะเวลานานพอสมควร เพราะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องกฎหมาย
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวต่อไปอีกว่า ความพยายามในการจัดตั้งกรมอุตสาหกรรมฮาลาลมาจากการที่รัฐบาลมองเห็นมูลค่าของตลาดฮาลาลโลก ซึ่งสูงถึง 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ประเทศไทยยังมีสุดส่วนไม่มากเพียงแค่ 2.7% ของมูลค่ารวมเท่านั้น
อีกทั้งผลิตภัณฑ์ฮาลาลยังไม่ใช่เป็นที่ต้องการแค่เพียงประเทศที่เป็นมุสลิมเท่านั้น แต่ประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมก็มีความต้องการในปริมาณมากเช่ยนเดียวกัน เพราะไม่ใช่มีแค่ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหาร แต่ยังมีเครื่องสำอาง เครื่องหอม สแนค เป็นต้น
ส่วนเป้าหมายในการจัดตั้งกรมฯนั้น เพื่อต้องการรวบรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมดมาบูรณาร่วมกัน โดยจะทำให้การดำเนินงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ ที่สำคัญจะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกให้กับไทยได้ และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ รวมไปถึงเกษตรที่เป็นผู้ผลิต
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวอีกว่า ปัจจุบันไทยถือว่ามีความพร้อมหลายด้าน เช่น โรงเชือดที่ทันสมัยซึ่งถูกต้องตามหลักศาสนาที่จังหวัดชุมพร โดยสามารถเชือดเนื้อวัวได้สูงสุดถึง 400 ตัวต่อวัน เพื่อส่งไปขายในประเทศ และส่งออก
"กระทรวงฯได้มีการเข้าไปช่วยเหลือ และสนับสนุนโรงเชือดดังกล่าว โดยที่ล่าสุดเจ้าของโรงเชือดก็มีการเสาะหาตลาดส่งออกเพิ่มเติม และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาการค้า ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะสามารถช่วยเกาตรกรที่เลี้ยงโคขุนในชุมพร และพื้นที่ใกล้เคียงได้"
อย่างไรก็ดี กระทรวงฯก็จะเร่งดำเนินการพัฒนาโรงเชือดในลักษณะดังกล่าวให้มีอยู่ในทุกภูมิภาค เพื่อช่วยเกษตรกร และรองรับตลาดที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้กระทรวงฯได้มีกาหารือกับผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต้องการผลิตอาหารญี่ปุ่นในรูปแบบฮาลาลเพื่อส่งออก และต้องการใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพราะมองเห็นถึงศักยภาพทั้งเรื่องของวัตถุดิบ และการออกตราสัญลักษณ์รับรองเครื่องหมายฮาลาล