นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีการประชุมวันที่ 10 เม.ย.67 นั้น คณะกรรมการต้องประมวลตัวแปรทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงให้ครบถ้วน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจในทิศทางที่ทำให้นโยบายการเงินมีการผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง เช่น กรอบเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระดับขั้นต่ำ ขณะที่ธนาคารกลางอื่นบอกว่า เขายังไม่ลด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับสูง ขณะเดียวกัน การทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย เพื่อช่วยนโยบายการคลังในช่วงที่ต้องการดูแลเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางเช่นนี้ เรื่องการท่องเที่ยวที่ตั้งเป้าไว้ แต่ยังมาไม่ตามเป้าหมาย รวมทั้งการผลิตที่ยังผลิตได้ไม่เต็มที่ โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมยังติดลบอยู่
“ตลาดได้คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่า ปีนี้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้ง แต่ไม่ทราบว่าจะลดในครั้งใด แต่หากลดในครั้งนี้ไว้ ภาคเอกชนก็มีเวลาเตรียมตัว วางแผนได้ ขณะเดียวกัน เมื่ออัตราดอกเบี้ยลด จะนำเงินบางส่วนไปประกอบอาชีพ และลงทุนต่างๆ ได้ ทำให้เศรษฐกิจในปี 67 กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น และมีผลต่อเนื่องไปถึงปี 68 ต่อไป”
ส่วนการกดดันการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีผลต่อเสถียรภาพหรือไม่นั้น นายพรชัย กล่าวว่า ความเชื่อมั่นธนาคารกลางทุกประเทศมีความเป็นอิสระ และมีคณะกรรมการที่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการกำหนดนโยบายต่างๆ ก็มีการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน และอนาคต รวมทั้งตัวแปรที่สำคัญ คือ เรื่องที่เกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ การจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ยกตัวอย่าง ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา และธนาคารกลางประเทศอังกฤษ ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ โดยเหตุผลสำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ระดับที่สูงอยู่ ยังไม่กลับเข้ากรอบเป้าหมาย ฉะนั้น ในส่วนนี้ คือ การพิจารณาของทั้ง 2 ธนาคารดังกล่าว ต้องมองว่ามีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร
“ทั้ง 2 ธนาคารกลางดังกล่าว กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ให้กับเข้าสู่เป้า ก็คงต้องใช้ดอกเบี้ยนโยบายที่เข้มงวดอยู่ ในทางกลับกัน ถ้าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ และต่ำกว่ากรอบอัตราเงินเฟ้อนโยบาย มองว่าการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ผ่อนปรน หรือการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายก็เป็นสิ่งที่สามารถนำมาพิจารณาได้”
ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (policy space) โดยหากมี policy space เพียงพอ สามารถนำมาใช้ลดอัตราดอกเบี้ยลงก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม แต่หากมี policy space มาก แต่ไม่นำมาใช้ ส่วนตัวมองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะเงื่อนไขทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายได้บรรลุไปแล้ว
ทั้งนี้ หากมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลต่อหนี้ครัวเรือนของประชาชนหรือไม่นั้น มองว่า เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อได้ถูกควบคุมไว้อย่างระมัดระวัง ฉะนั้น โอกาสที่จะมีการปล่อยสินเชื่อโดยไม่ผ่านกระบวนการที่รัดกุมคงจะไม่ค่อยได้เกิดขึ้นแน่ๆ ดังนั้น สินเชื่อที่มีการปล่อยออกไปจะมีการคุมคุณภาพ แต่โอกาสของคนที่จะได้รับรู้ถึงอัตราดอกเบี้ยต่ำก็จะเป็นประโยชน์ต่อเขาด้วย
ขณะเดียวกัน หากเป็นผู้ประกอบการก็จะสามารถเตรียมการบริหารต้นทุนได้ และมีการวางแผนขอสินเชื่อ ขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เชื่อว่าแบงก์ยินดีให้คำปรึกษา ฉะนั้น จึงมองไม่ได้มองว่า ผลที่มีต่อหนี้ครัวเรือน จะทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น และมีความเสียหายมากยิ่งขึ้น แต่มองว่ากระบวนการที่มีเกณฑ์ควบคุมอยู่แล้วจะมีการกลั่นกรอง และเป็นการช่วยคนที่ไม่มีโอกาส ได้เข้าถึงโอกาสมากขึ้น
“การลดดอกเบี้ย 0.25% จะช่วยสนับสนุนการบริโภคเพิ่มขึ้น 0.15% และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น 0.16%”