นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้รับทราบแนวทางการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ค่าแรงขั้นต่ำ 10 จังหวัดรอบใหม่แล้ว หลังจากสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้รวบรวมผลการประชุมอนุกรรมการ 10 จังหวัด เสนอต่อคณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองเพื่อกลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัด ก่อนจะเสนอให้คณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ชุดที่ 22 ในวันที่ 26 มีนาคม 2567 นี้ เพื่อพิจารณา
“ตอนนี้รอแค่เสนอเข้าบอร์ดค่าจ้างพิจารณา ในวันที่ 26 มีนาคม นี้ หากที่ประชุมเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน 10 จังหวัดนำร่องแล้ว สำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง จะจัดทำประกาศ เสนอไปยังที่ประชุมครม. อย่างเร็วที่สุด คือภายในวันที่ 2 หรือวันที่ 9 เมษายน 2567 นี้ เพื่อรับทราบ จากนั้นจึงประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2567 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญวันปีใหม่ไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์”
นายพิพัฒน์ ระบุว่า ในการพิจารณารายละเอียดของการปรับอัตราค่าจ้างรอบใหม่นั้น จะพิจารณาเป็นรายพื้นที่ เช่น พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในจะมีอัตราค่าจ้างในอัตราหนึ่ง ส่วนกรุงเทพฯ ชั้นนอกอาจจะมีค่าจ้างอีกอัตราหนึ่ง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับค่าครองชีพในแต่ละพื้นที่ ส่วนบางแห่งจะปรับขึ้นไปถึงวันละ 400 บาท หรือไม่นั้น คงต้องรอผลการพิจารณาจากคณะกรรมการค่าจ้างอีกครั้ง
ทั้งนี้ในนโยบายของกระทรวงแรงงานนั้น ยืนยันว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรม และความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่มากที่สุด โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะอนุกรรมการฯ ได้ลงไปสำรวจพูดคุยกับทางผู้ประกอบการแล้ว และได้มีข้อสรุปตรงกัน โดยจะนำข้อมูลทั้งหมดเสนอประกอบการพิจารณาต่อบอร์ดค่าจ้างด้วย
รมว.แรงงาน กล่าวว่า แรงงานกลุ่มแรกที่จะได้รับการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในรอบนี้ มองว่าจะนำร่องในกลุ่มแรงงานภาคท่องเที่ยวก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ โดยใน 10 จังหวัดนำร่องหลายแห่งก็เป็นจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า แรงงานในภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ปี 2562 ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ดังนั้นเมื่อการท่องเที่ยวฟื้นตัวแล้ว แรงงานกลุ่มนี้ก็ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม
ทั้งนี้ที่ผ่านมาในการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามพื้นที่ โดยให้มีการสำรวจข้อมูลสถานประกอบกิจการและลูกจ้างในพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ สงขลา พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง
โดยสำรวจข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ มาตรฐานการครองชีพ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของลูกจ้าง และข้อเท็จจริงทางสังคมและเศรษฐกิจตามพื้นที่ต่าง ๆ รวมทั้งความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เพื่อนำมาวิเคราะห์และประมวลผลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้าง
พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานแรงงานจังหวัด สำรวจสถานประกอบกิจการและลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทั้งการบริการโรงแรมและที่พัก ไปแล้วกว่า 950 แห่งใน 10 จังหวัด และจัดประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อพิจารณาเสนอแนะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดในภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อไป