"รฟม." ทะลวงอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้"

25 มี.ค. 2567 | 09:10 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2567 | 09:17 น.

"รฟม." เปิดแผนคืบหน้าสร้าง "รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้" 6 สัญญา เตรียมขุดเจาะอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงผ่านฟ้า-สะพานพุทธ คาดตอกเสาเข็มเสร็จปลายปี 69

นายกิตติ เอกวัลลภ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เปิดเผยว่า สำหรับความก้าวหน้าการก่อสร้างงานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ในภาพรวมทั้ง 6 สัญญา ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีความก้าวหน้ารวม ร้อยละ 28.62 จากแผนงาน 19.72 คิดเป็นการดำเนินงานเร็วกว่าแผน ร้อยละ 8.90

\"รฟม.\" ทะลวงอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาสร้าง \"รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้\"

ทั้งนี้ในปัจจุบันโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้า – สะพานพุทธ อยู่ระหว่างเตรียมงานขุดเจาะอุโมงค์ บริเวณสถานีสะพานพุทธฯ ซึ่งการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์จะต้องใช้ระยะเวลารวมประมาณ 18 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2569

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เริ่มปิดเบี่ยงจราจรบริเวณทางลงสะพานพระปกเกล้า ถึง อนุสรณ์สถานงานสมโภช 100 ปี (วงเวียนเล็ก) 1 ช่องจราจร ตลอด 24 ชั่วโมง มีผลให้ผู้สัญจรผ่านถนนประชาธิปก ฝั่งขาออก สามารถสัญจรได้เพียง 2 ช่องจราจร แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างมีสภาพการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น และมีชุมชน โรงเรียนโดยรอบ

 

รฟม. และผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา จึงได้ประสานขอความร่วมมือจากตำรวจนครบาลและสถานีตำรวจในพื้นที่ เพื่อหามาตรการร่วมกันในการลดผลกระทบต่อผู้ใช้เส้นทางตลอดระยะเวลาการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์บริเวณดังกล่าว

\"รฟม.\" ทะลวงอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาสร้าง \"รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้\"

ขณะเดียวกันจะมีการทดลองใช้มาตรการปรับทิศทางการสัญจรของสะพานพระพุทธยอดฟ้า ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 25 มีนาคม 2567 – วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 และทางตำรวจจราจรในพื้นที่จะติดตามประเมินประสิทธิภาพในการระบายรถ เพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาการใช้มาตรการปรับทิศทางการสัญจรฯ ออกไป จนครอบคลุมระยะเวลาการดำเนินงานขุดเจาะอุโมงค์ทั้งหมด หรือพิจารณาปรับเปลี่ยนไปใช้มาตรการอื่นๆ ที่จะสามารถลดผลกระทบแก่ประชาชนผู้สัญจรทางถนนได้ดีที่สุดต่อไป

นายกิตติ กล่าวต่อว่า รฟม. ตระหนักถึงผลกระทบด้านการจราจรในบริเวณดังกล่าว จึงได้เร่งรัดให้ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา ดำเนินการคืนผิวจราจรบนถนนประชาธิปก ฝั่งขาเข้า จำนวน 3 ช่องทาง บริเวณคลองสมเด็จเจ้าพระยา ภายหลังเสร็จสิ้นงานปรับปรุงโครงสร้างสะพานข้ามคลองสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อรองรับงานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้า ประมาณต้นเดือนเมษายน 2567 เพื่อเพิ่มช่องทางการสัญจรและบรรเทาปัญหาการจราจรให้แก่ประชาชนที่สัญจรในบริเวณดังกล่าว

\"รฟม.\" ทะลวงอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาสร้าง \"รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้\"

นอกจากนี้รฟม. ควบคุมดูแลการก่อสร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ตามมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้าง และตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด

\"รฟม.\" ทะลวงอุโมงค์ลอดเจ้าพระยาสร้าง \"รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้\"

อย่างไรก็ตามยังได้มีการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้ในการก่อสร้าง โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกสะสม 104,463.12 ตัน เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 571,795 ต้น ซึ่งโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงฯ ถือเป็นโครงการนำร่อง ก่อนจะขยายสู่โครงการรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ รฟม. ต่อไป