สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย วิเคราะห์-ถอดบทเรียนปัญหาเครนถล่มซ้ำซาก

31 มี.ค. 2567 | 01:49 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2567 | 01:56 น.

สมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย วิเคราะห์และถอดบทเรียนปัญหาเครนถล่มซ้ำซาก ล่าสุด จังหวัดระยองเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต7ราย

 

จากเหตุการณ์เครนถล่มที่จังหวัดระยองเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 7 ราย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ระบุ ว่าขณะนี้ ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากสาเหตุใด แต่เหตุการณ์เครนถล่มครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในอดีต ถือได้ว่าเป็นปัญหาซ้ำซากที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้

 ในครั้งนี้ ศ.ดร.อมร ตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นปั้นจั่นชนิดหอสูง หรือ Tower crane เพราะดูจากภาพแล้วมีความสูงหลายสิบเมตรจากระดับพื้นดิน ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง ความแข็งแรงของปั้นจั่นหอสูงประเภทนี้ ขึ้นอยู่กับ 1. กำลังรับน้ำหนักของโครงเหล็กถัก 2. เสถียรภาพหรือการทรงตัวและ 3. ฐานรองรับ

 

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ

แนวทางการวิเคราะห์สาเหตุการถล่ม คงต้องเริ่มจากวางกรอบประเด็นการวิเคราะห์ไว้ 6 ปัจจัย ได้แก่

  1. ขั้นตอนการติดตั้ง การรื้อถอน การประกอบหรือการเพิ่มความสูงของเครน ไม่ถูกวิธี หรือไม่เป็นไปตามคำแนะนำของผู้ผลิต
  2. การใช้งานไม่ถูกต้อง เช่น ยกของเกินพิกัดน้ำหนักบรรทุก
  3. ขาดการตรวจสอบก่อนใช้งาน
  4. วัสดุเสื่อมสภาพ หรือ การยึดระหว่างชิ้นส่วนต่างๆของเครน หรือ การยึดระหว่างเครนกับโครงสร้าง ไม่ครบถ้วน
  5. ปัจจัยด้านธรรมชาติ เช่น ลม พายุ
  6. ผู้ปฏิบัติงานประสบการณ์ หรือขาดความรู้ และไม่มีผู้ควบคุมการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ จากสถิติในอดีต พบว่าสาเหตุของเครนถล่มมักจะเกิดขึ้นในระหว่างการประกอบติดตั้ง หรือเพิ่มความสูงถึง 42 % และเกิดจากการใช้งานไม่ถูกต้อง 27% สำหรับกรณีที่ระยองนี้ ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แท้จริงได้ ต้องรวบรวมข้อมูลรายละเอียดเพื่อประกอบการวิเคราะห์สาเหตุต่อไป

เนื่องจากปั้นจั่นหอสูงจัดเป็นทั้งโครงสร้าง และ เครื่องจักร ดังนั้น ในปัจจุบันจึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปั้นจั่น หลายฉบับได้แก่ พ.ร.บ.วิศวกร 2542 พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 และกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ปั้นจั่นและหม้อน้ำ ปี 2564 แต่ก็ยังเกิดอุบัติเหตุซ้ำซากอีก

ในกฎหมายเหล่านี้ ได้มีการกำหนดมาตรการและบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายในการใช้งานเครนอย่างปลอดภัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย วิศวกรเครื่องกลที่ตรวจสอบเครน วิศวกรโยธาควบคุมงานก่อสร้าง ตลอดถึงจนเจ้าของงาน และในส่วนของการใช้งานเครน กฎหมายก็ยังกำหนดให้ต้องมี ผู้บังคับปั้นจั่น ผู้ให้สัญญาณ ผู้ยึดเกาะวัสดุ และผู้ควบคุมการใช้ปั่นจั่น

ศ.ดร.อมร กล่าวต่อว่า กฎหมายต่างๆที่ออกมานั้น ถือได้ว่ามีความครอบคลุมอยู่แล้ว แต่ปัญหาใหญ่คือการบังคับใช้และการตรวจสอบ แม้ว่าเราจะมีกฎหมายที่ดีและครอบคลุมเพียงใด แต่หากละเลยหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและหลักทางวิศวกรรมที่มีอยู่ ก็เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งนี้ มาตรการที่ภาครัฐควรพิจารณาคือ ต้องเพิ่มแนวทางการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ให้เคร่งครัดและกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างจริงจังต่อไป