นางสาวเด่นดาว โกมลเมศ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัทอมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) (AMATA) เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนการระดมทุนโดยนำบริษัท อมตะ ยู จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการระบบสาธารณูปโภคและการให้บริการต่างๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ปี 67 บริษัทตั้งเป้าที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเงินมุ่งเน้นไปที่การเติบโตของรายได้ รวมถึงการจัดการด้านต้นทุน โดยวางแนวทางการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่าย การแสวงหาโอกาสการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงที่มีต้นทุนทางการเงินต่ำ รวมถึงการบริหารกระแสเงินสดให้มีความเหมาะสม เพื่อรักษาความยืดหยุ่นในการดำเนินงานให้สอดรับกับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อให้บริษัทเติบโตต่อเนื่อง
นายโอซามู ซูโด รักษาการประธานเจ้าหน้าที่การตลาด AMATA กล่าวว่า แนวโน้มการขายที่ดินเพื่อรองรับการลงทุนในปี 2567 นั้น บริษัทยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวน การวางเป้ายอดขายที่ดินในปี 67 เนื่องจากบริษัทยังอยู่ระหว่างรอข้อสรุปการปิดการขายสัญญาซื้อที่ดินของลูกค้าคาดว่ายอดขายที่ดินในปีนี้ ซึ่งน่าจะใกล้เคียงหรือมากกว่าปีที่ผ่านมาสอดรับกับทิศทางการเติบโตเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ขณะที่สถานการณ์การเมืองทำให้นักลงทุนให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุน เพื่อผลิตสินค้าส่งออก ดังนั้นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนจึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกที่มีความสำคัญมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขายที่ดินในปีก่อนที่มีความโดดเด่นในโครงการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม สอดรับกับทิศทางความต้องการของนักลงทุนและแนวโน้มการลงทุนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ซึ่งถือเป็นทิศทางและปัจจัยบวกในการส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่องในขณะที่รัฐบาลของประเทศเวียดนามเองก็ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนมากขึ้น
ด้านแนวโน้มการลงทุนในช่วงปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มีลูกค้าให้ความสนใจซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตอย่างต่อเนื่อง และได้เข้ามาสำรวจที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะหลายราย โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการจากจีนที่มีความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศมากขึ้น
ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมที่กลุ่มนักลงทุนจีนให้ความสนใจเข้ามาสำรวจที่ดิน คือ นิคมฯ ไทย-จีน ที่ตั้งอยู่ในอมตะซิตี้ ระยอง ทำให้แนวโน้มความต้องการซื้อที่ดินในจังหวัดระยองจากผู้ประกอบการจีนสูงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ในปี 67 คาดว่าสัดส่วนลูกค้าจีนในระยองจะเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ดี จากการที่ผู้ประกอบการในประเทศจีนมีการย้ายฐานเข้ามาประกอบการตั้งโรงงานในไทยมากขึ้น สาเหตุมาจากปัจจัยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประเทศกลุ่มอาเซียนถือเป็นเป้าหมายสำคัญในการย้ายฐานการผลิต โดยไทยมีความพร้อมที่จะรองรับการลงทุนจากมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล