วันนี้ (2 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ครอบคลุม 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2571 หลังผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐแล้ว
ส่วนการจัดทำรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ยอมรับว่า ภายในสัปดาห์นี้ 4 หน่วยงานเศรษฐกิจ คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะหารือเพื่อพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายปี 2568 ใหม่ และเสนอครม.อีกครั้งในวันที่ 9 เมษายน 2567
นายเฉลิมพล กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณ ปี 2568 ที่ปรับปรุงใหม่ จะมีกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นอีก 152,700 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.752 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก 152,700 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวน ที่ผ่านมติครม.วันนี้ จะครอบคลุม 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2571 หลังผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐแล้ว โดยภายใต้แผนการคลังระยะปานกลางนี้ จะจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง และจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 4 ปี คิดเป็นวงเงินกว่า 2,944,700 ล้านบาท
สำหรับการขาดดุลงบประมาณ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2571 ภายใต้แผนการคลังระยะปานกลาง ฉบับทบทวนนั้น กำหนดรายละเอียดแยกเป็นรายปี คือ ปีงบประมาณ 2568 ขาดดุล 865,700 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 ขาดดุล 703,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 ขาดดุล 693,000 ล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2571 ขาดดุล 683,000 ล้านบาท
ส่วนกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายนั้น แยกเป็นรายปีคือ ปีงบประมาณ 2568 มีกรอบวงเงิน 3,752,700 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 มีกรอบวงเงิน 3,743,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 มีกรอบวงเงิน 3,897,000 ล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2571 มีกรอบวงเงิน 4,077,000 ล้านบาท
ขณะที่การประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ แยกเป็นรายปีคือ ปีงบประมาณ 2568 รายได้สุทธิ 2,887,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2569 รายได้สุทธิ 3,040,000 ล้านบาท, ปีงบประมาณ 2570 รายได้สุทธิ 3,204,000 ล้านบาท และ ปีงบประมาณ 2571 รายได้สุทธิ 3,394,000 ล้านบาท
ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในการปรับปรุงแผนการคลังระยะปานกลาง โดยปรับวงเงินงบประมาณในปี 2568 เพิ่มขึ้น จากกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายเดิม 3.6 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น 3.752 ล้านล้านบาท โดยจะมีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มอีก 152,700 ล้านบาท เป็น 865,700 ล้านบาท เป็นการจัดเตรียมวงเงินเพื่อนำมาใช้รองรับโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล
ต่อมา นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดของแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2568-2571) ประกอบด้วย 3 ส่วน มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2569 - 2570 จะอยู่ในช่วง 1.3 - 2.3% และในปี 2571 - 2572 จะอยู่ในช่วง 1.5 - 2.5%
2.สถานะและประมาณการการคลัง
ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2568 - 2571
ประมาณการงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 - 2571
จากประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิและงบประมาณรายจ่ายดังกล่าวในปีงบประมาณ 2568 - 2571 รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณ ดังนี้
ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 มีจำนวน 11,131,634.20 ล้านบาท คิดเป็น 62.44% ของ GDP และประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2568 - 2571 แบ่งเป็น
3.เป้าหมายและนโยบายการคลัง
การดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง ภาครัฐยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางการคลังในอนาคต โดยยังคงยึดหลักแนวคิด “Revival” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
โดยคำนึงถึงการรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด ให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ผ่านการสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังในด้านต่าง ๆ ทั้งในส่วนของการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญและความจำเป็น ความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความครอบคลุมจากทุกแหล่งเงินในการใช้จ่ายภาครัฐ
ควบคู่ไปกับการทบทวนและยกเลิกมาตรการลดและยกเว้นภาษีให้มีเพียงเท่าที่จำเป็น การปฏิรูปโครงสร้าง และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการบริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดขนาดการขาดดุลการคลังและสร้างกันชนทางการคลัง ในการบริหารจัดการพื้นที่สำหรับการดำเนินนโยบายที่จำเป็น ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป
สำหรับเป้าหมายการคลังของแผนการคลังฉบับนี้ รัฐบาลยังคงมุ่งเน้นการจัดทำงบประมาณรายจ่ายแบบขาดดุลในระยะสั้น เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ และมุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในระยะปานกลาง
ทั้งนี้ หากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง ทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม