วันนี้ (2 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ
ทั้งนี้เดิมประเทศไทยมี พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายกลางที่ช่วยแก้ปัญหาความไม่ชัดเจนและความไม่สะดวกต่าง ๆ ของการอนุมัติ อนุญาต โดย พ.ร.บ. ดังกล่าวได้บังคับใช้มากว่า 8 ปีแล้ว และถึงแม้จะมีผลสัมฤทธิ์ในเชิงปฏิบัติ แต่ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไป
ประกอบกับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านต่าง ๆ ทำให้ภาครัฐต้องมีการปรับตัว ก.พ.ร. จึงได้ปรับปรุงเพื่อแก้ไขปัญหาในการบังคับกฎหมาย ขจัดผลไม่พึงประสงค์ ตลอดทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการขออนุญาตและขอรับบริการจากหน่วยงานของรัฐ
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและการให้บริการแก่ประชาชน มีด้วยกัน 14 ข้อดังนี้
1. แก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติจาก “พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 เป็น “พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตและให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. ....” เพื่อขยายขอบเขตไปถึงการให้บริการต่าง ๆ แก่ประชาชน (ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการอนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง) และให้มีขอบเขตสอดคล้องกับพ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อขยายการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
2. ยกเลิกพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 และกำหนดให้ใช้บังคับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เมื่อพ้น 180 วัน เพื่อให้เวลาหน่วยงานต่าง ๆ ในการดำเนินการตามร่างนี้ (เช่น การรับชำระค่าธรรมเนียมแทนการรับคำขอต่ออายุใบอนุญาต) ยกเว้นมาตรา 29 วรรคหนึ่ง และมาตรา 30 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆ เริ่มดำเนินการตั้งแต่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (ได้แก่ การยกเลิกหรือปรับลดระบบอนุญาต และการปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชน)
3. กำหนดเพิ่มเติมขอบเขตของพ.ร.บ.จากเดิมที่กำหนดให้ใช้บังคับกับการจดทะเบียนหรือการแจ้งที่กฎหมายหรือกฎกำหนดให้ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือแจ้ง โดยกำหนดเพิ่มให้รวมถึงกรณีที่ประชาชนขอให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาขอให้ดำเนินการใด ๆ หรือการขอรับบริการบรรดาที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานนั้นด้วย
4. เพิ่มนิยามคำว่า “หน่วยงานของรัฐ” เนื่องจากขยายขอบเขตของพ.ร.บ.ตามตามข้อ 1 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทั้งหมดดำเนินการตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ และเพิ่มนิยามคำว่า “ความเสี่ยง” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดกิจการหรือกระบวนงานใด ๆ ที่จะพิจารณาปรับลดมาตรการในระบบอนุญาตการทดลองประกอบกิจการ รวมทั้งการขอยกเว้นการใด ๆ ตามร่างพ.ร.บ.นี้
5. ให้ผู้อนุญาตทบทวนกฎหมายทุก 5 ปี ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การพิจารณาความจำเป็นหรือมีมาตรการอื่นแทนการอนุญาต การปรับเปลี่ยนการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการเป็นหัวหน้าหน่วยงาน การอนุญาตที่มีกฎหมายเกี่ยวข้องหลายฉบับเป็นหน้าที่และอำนาจของผู้อนุญาตเพียงกฎหมายฉบับเดียว และให้หน่วยงานส่วนกลางจัดทำคู่มือฉบับเดียวและให้ทบทวนคู่มือทุก 2 ปี
6. กำหนดให้ผู้อนุญาตอาจจัดให้มีช่องทางพิเศษแบบเร่งด่วน (Fast Track) สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นหรือต้องการได้รับอนุญาตหรือบริการอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษได้ โดยผู้อนุญาตต้องจัดให้มีคู่มือประชาชนสำหรับช่องทางพิเศษนี้ด้วย
7. เพิ่มหลักการอนุญาตโดยปริยาย (Auto Approve) เมื่อเกินกำหนดระยะเวลาพิจารณาคำขอไว้ในคู่มือสำหรับประชาชน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ยื่นคำขอมีสิทธิได้รับการอนุญาตตามความประสงค์แทนที่จะถูกปฏิเสธคำขอเพราะขาดข้อมูลบางประการ
8. ให้หน่วยงานภาครัฐต้องจัดให้มีแบบฟอร์มคำขอใบอนุญาตหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตและใบแทนใบอนุญาตเป็นภาษาอังกฤษให้แก่ผู้ยื่นคำขอหรือผู้รับใบอนุญาต
9. กำหนดให้มีระบบอนุญาตหลัก (Super License) เพื่ออำนวยความความสะดวกให้แก่ประชาชนกรณีการประกอบกิจการที่ต้องขอรับใบอนุญาตจำนวนมาก โดยออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้ใบอนุญาตใดเป็นใบอนุญาตหลักได้แล้วใบอนุญาตอื่นของเรื่องนั้นจะเป็นใบอนุญาตรองซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตหลักสามารถประกอบกิจการนั้นได้เลย
โดยถือเสมือนว่าได้รับใบอนุญาตรองครบถ้วนแล้วด้วย ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตทุกใบให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด
10. กำหนดขึ้นใหม่ในเรื่องการทดลองประกอบกิจการที่ต้องขอรับอนุญาต โดยใช้ระบบแจ้งไปพลางก่อนชั่วคราวได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนไม่ต้องรอรัฐอนุญาตซึ่งอาจล่าช้าได้ รวมทั้งเพื่อให้ได้ทราบว่ากิจการที่ตนทดลองประกอบการนั้นสามารถประสบผลสำเร็จได้ตามความประสงค์หรือไม่
11. กำหนดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการยกเลิกอายุใบอนุญาตเพื่อให้เป็นใบอนุญาตถาวรหรือขยายอายุใบอนุญาตที่น้อยกว่า 5 ปี เป็นอย่างน้อย 5 ปี เพื่อลดภาระการต่ออายุใบอนุญาตและเพิ่มความแน่นอนให้แก่การประกอบกิจการของประชาชน
12. กำหนดให้ในกรณีที่ใบอนุญาตหรือหลักฐานการต่ออายุใบอนุญาตชำรุดในสาระสำคัญ สูญหาย หรือถูกทำลาย ให้ผู้อนุญาตออกใบแทนได้โดยผู้รับอนุญาตไม่ต้องยื่นหลักฐานที่แสดงการแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจ
13. กำหนดให้มีศูนย์รับคำขอกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยพัฒนาต่อยอดจากศูนย์กลางบริการภาครัฐเพื่อภาคธุรกิจ (Biz Portal) ปัจจุบันให้บริการแล้ว 25 ประเภทธุรกิจรวม 134 ใบอนุญาต โดยสำนักงาน ก.พ.ร. สามารถมอบให้เอกชนดำเนินการได้ โดยสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้กำกับดูแลและขับเคลื่อนหน่วยงานให้บริการ
14. บทเฉพาะกาล กำหนดให้หน่วยงานที่มีกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตทบทวนระบบอนุญาต และให้หน่วยงานทบทวน ปรับปรุงกระบวนการ และจัดทำคู่มือสำหรับประชาชนภายใน 180 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา