นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า สัญญาณเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง และเศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณบวกที่หนุนการทยอยฟื้นตัว
นอกจากนี้ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศหลัก เช่น อังกฤษ และยุโรป มีแนวโน้มที่จะลดดอกเบี้ยเพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจไม่ได้รีบลดดอกเบี้ยเร็วและแรงเหมือนที่นักวิเคราะห์เคยคาดไว้ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางผันผวนอ่อนค่า
ด้านเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ในกรอบประมาณการที่ 2.8-3.3% แต่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง และข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของไทยที่ทำให้การส่งออกฟื้นตัวได้ช้าและไม่ทั่วถึง
อีกทั้งอุปสงค์ภายในประเทศยังอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจึงต้องการแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากทั้งนโยบายการคลังในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการกระตุ้นอื่นๆ และนโยบายการเงินซึ่งจะเป็นในรูปของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือการปรับลดค่าธรรมเนียม FIDF อย่างที่เคยทำในอดีต ซึ่งจะช่วยลดภาระทางการเงินให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
อย่าไงรก็ดี เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตได้ต่ำลงจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบต่อการผลิตและการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีขนาด 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาและไม่สามารถส่งออกได้เต็มศักยภาพ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการ เช่น รถยนต์สันดาป Hard Disk Drive (HDD) และผลิตภัณฑ์พลาสติก ชะลอตัวลงจากปัจจัยทั้งระยะสั้นและระยะยาว
ขณะที่สินค้าที่ส่งออกได้ดีเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ เช่น ยางรถยนต์ และเนื้อสัตว์แปรรูปนอกจากนี้สินค้าบางประเภทเผชิญการแข่งขันจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นภาคการผลิตไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวให้สอดรับกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป และบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
ด้านปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยประเทศที่แบ่งขั้วชัดเจนจะหันมาค้ากับประเทศที่มีจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ไม่ขัดแย้งกัน ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องหาโอกาสสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเลือกกลยุทธ์ที่เฉพาะเจาะจงกับบริบทของแต่ละภาคการผลิตในแต่ละตลาดส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตและความเข้มข้นในการแข่งขันในแต่ละอุตสาหกรรม
กกร.ตระหนักถึงปัญหาของผู้ประกอบการ SME ที่มีศักยภาพแต่ยังเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพิ่มกลไกในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อสร้างฐานข้อมูลสำหรับประกอบการพิจารณาสินเชื่อตามกลไกตลาด โดยส่งเสริมให้จดทะเบียนนิติบุคคล โดยยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ 5-7 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการปรับตัว รวมถึงปรับเงื่อนไขและเพิ่มทรัพยากรของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และเกิดความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดการบูรณาการในการแก้ไขสินค้าไม่มีคุณภาพทั้งระบบ ภาครัฐควรพิจารณาปรับเงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์เขตปลอดอากร (Free Zone) รวมทั้ง เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับสินค้าสำแดงเท็จที่นำเข้าผ่านด่านศุลกากร โดยสนับสนุนเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสแกนสินค้า รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนทราบถึงผลกระทบของการใช้สินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ