วันนี้ (3 เมษายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้เห็นชอบรายละเอียดโครงการ "โคแสนล้าน" นำร่อง ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบในหลักการ และมอบหมายให้กลับไปพิจารณาในรายละเอียด ทั้งอัตราดอกเบี้ย งบประมาณ และกรอบระยะเวลาในการดำเนินการ
สำหรับรายละเอียดโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ที่นำมาหารือในคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ ครั้งนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบวงเงินสินเชื่อ ดำเนินการโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) วงเงิน 5,000 ล้านบาท
โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. อัตรา 4.50% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่ง ธ.ก.ส.จะตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อขอชดเชยอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจากรัฐ จำนวน 450 ล้านบาท และขั้นตอนต่อจากนี้ กองทุนหมู่บ้านฯ จะเสนอให้ครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ในการดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง กำหนดรวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินสินเชื่อของ ธ.ก.ส. กรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่กองทุนหมู่บ้านฯ สำหรับให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่มีประวัติการกู้เงินและชำระเงินดี ได้กู้ยืมเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงโค จำนวน 100,000 ครัวเรือน ๆ ละ 50,000 บาท
โดยจะได้รับคำแนะนำการเลี้ยงโคจากกรมปศุสัตว์ และ รัฐชดเชยดอกเบี้ยให้กับ ธ.ก.ส. พร้อมทั้งจัดหาตลาดเพื่อรองรับ ต่อยอดและขยายผลในการสร้างอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิก กองทุนหมู่บ้านฯ
ส่วนเป้าหมายของการดำเนินโครงการ “โคแสนล้าน” นำร่อง ประเมินว่า จะสามารถสร้างรายได้ต่อครัวเรือนอย่างน้อย 240,000 บาท ต่อครัวเรือน จากต้นทุน 50,000 บาท หรือ 4.8 เท่า ในระยะเวลา 5 ปี (โค 2 ตัว เฉลี่ยราคาโคตัวละ 25,000 บาท สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 120,000 บาทต่อตัว)
ขณะที่การคิดดอกเบี้ยในปีที่ 1-2 ไม่คิดอัตราดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3 ยังไม่ต้องชำระคืนต้นเงิน แต่ชำระดอกเบี้ยอัตราตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร ปีที่ 4 ชำระต้นเงิน 50% ของวงเงินที่กู้ยืม พร้อมชำระดอกเบี้ยอัตราตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร จากนั้นในปีที่ 5 ชำระต้นเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด โดยสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ สามารถชำระคืนเงินต้นสินเชื่อก่อนกำหนดได้
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบ โครงการ”สัตวบาลอาสา” เพื่อจะเป็นผู้ช่วยปศุสัตว์ ในการลงพื้นที่ไปช่วยสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ในการผสมเทียม เพราะเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อาจไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องมีสัตวบาลอาสาด้วย