คลังยันขาดดุลงบเพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ไม่กระทบเครดิตประเทศ

05 เม.ย. 2567 | 08:30 น.
อัพเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2567 | 08:31 น.

คลังเผยขาดดุลงบประมาณปี 68 เพิ่ม 1.5 แสนล้านบาท ไม่กระทบเครดิตประเทศ ระบุฐานะกาคลังแข็งแกร่ง จี้ ธปท. แจงเหตุยังไม่ลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับปรุงกรอบการคลังระยะปานกลาง (2567-2571) โดยให้ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 เพิ่มขึ้นอีก 1.52 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ว่า การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มขึ้น ไม่มีปัญหา เนื่องจากปัจจุบันฐานะการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศ สูงถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เงินคงคลังอยู่ในระดับสูงที่ 5-6 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้

“ผมคิดว่าวันนี้เรื่องฐานะประเทศเข้มแข็งมาก ไม่น่าเป็นห่วง ส่วนหนี้สาธารณะในปีงบประมาณ 2568 ที่ประเมินว่าจะปรับขึ้นไปที่ระดับ 66.93% ต่อจีดีพีนั้น ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี และเมื่อมีการบริหารจัดการหนี้สาธารณะก็จะมีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ได้ให้นโยบายชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการปรับลดรายจ่ายประจำ ตรงไหนที่ไม่จำเป็น เช่น เดิมรัฐบาลมีรายจ่ายที่จะต้องจ่ายสมทบให้กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ปีละราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันเต็มกรอบเพดานแล้ว ตรงนี้ก็เป็นรายจ่ายที่รัฐบาลไม่ต้องจ่ายแล้ว ส่วนนี้ก็ลดไป

ขณะเดียวกันที่ต้องทำควบคู่ คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ เรื่องนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กำลังพิจารณาอยู่ แต่การจะปรับเพิ่มภาษีตัวใด ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยหลาย ๆ เรื่องประกอบ และต้องขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่เหมาะสม

“เรื่องการปฏิรูปโครงสร้างภาษีทุกรัฐบาลมีความตั้งใจ แต่ก็มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ดำเนินการ ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและระยะเวลา”

อย่างไรก็ตาม หากดูตามประมาณการในเอกสารงบประมาณก็ยังพบว่าแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการได้ หากต้องมีการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น ก็เชื่อว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้ ส่วนเรื่องการอุดหนุนราคาน้ำมันนั้น ตอนนี้อยากขอให้ทางกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงดูแลไปก่อน เพราะว่าตอนนี้ต้องมาให้ความสำคัญเรื่องของรายได้ เพื่อให้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามเอกสารงบประมาณ

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเพิ่มการขาดดุลอีก 1.5 แสนล้านบาท ในปีงบประมาณ 2568 นั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับการประเมินเครดิตเรตติ้งของประเทศไทย โดยมองว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือคงจะดูว่าเราเอาเงินที่ได้จากการขาดดุลเพิ่มไปใช้ทำอะไร เกิดประโยชน์อย่างไร และคงดูเรื่องแผนการใช้คืนจากรัฐบาลว่ามีความชัดเจนหรือไม่ หากรัฐบาลมีคำตอบที่ดีกับเรื่องนี้ ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน

ขณะเดียวกัน มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2% นั้นต่ำเกินไป และต้องยอมรับว่าการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อเป็นเรื่องจำเป็น เพราะทุกคนสัมผัสได้แล้วว่าเศรษฐกิจไม่ดีอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าคลังควรเร่งดูแลเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าการเร่งกระตุ้นระยะสั้นนั้น มองว่า เรื่องระยะยาวเป็นเรื่องโครงสร้าง ไม่ใช่ว่ากระทรวงการคลังไม่ได้ทำ แต่การดูแลเรื่องระยะสั้น ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อน อาจจะมีความจำเป็นที่ต้องเร่งดำเนินการก่อนหรือไม่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจคงดูแค่ระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างเดียวไม่ได้

“ภาพเศรษฐกิจเมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่มีการประเมินเป็นแบบหนึ่ง แต่วันนี้ผ่านมา 3 เดือน ต้องยอมรับว่าภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปเยอะ ต้องเอาข้อเท็จจริงมาดูกันว่าอะไรที่จำเป็น อะไรที่ควรทำก่อน การบริหารเศรษฐกิจระยะยาวไม่ผิด แต่การดูแลระยะสั้นก็ควรทำ”

ทั้งนี้ ในเรื่องทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในปัจจุบันนั้น มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือการส่งสัญญาณที่ถูกต้องให้กับสังคม เช่นขณะนี้เหตุผลที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องอธิบายให้ได้ว่าเพราะอะไร ทำไมถึงไม่ลง

ขณะที่มุมของคลังอาจจะมองอีกแบบว่าอัตราดอกเบี้ยในวันนี้มันสูงเกินจริงไปหรือไม่ เพราะหากมีการปรับลดลงมาก็ไม่ได้มีผลในทันที มันมีชี่วงระยะเวลาที่ต้องส่งผ่านก่อนจะเห็นผล แต่การส่งสัญญาณที่ถูกต้องว่าวันนี้ระบบเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และควรส่งสัญญาณว่านโยบายการเงินการคลังมีการทำงานที่สอดประสานกันนั้น เชื่อว่าจะเป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด