วันนี้ 8 เมษายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรุงเทพมหานคร ได้แจ้งว่า ประกาศมาตรฐานทางเท้าใหม่ เป้าหมายเปลี่ยนทางเท้าทั้งกรุงเทพฯ ให้ทุกคนเดินทางได้จริง เนื่องจาก กทม. ได้รับการร้องเรียนเรื่องทางเท้าเป็นอันดับต้น ๆ ดังนั้น กทม. จึงได้มีนโยบายปรับปรุงทางเท้าใหม่ ให้เป็นเส้นทางที่ทุกคนสามารถ "เดินได้จริง"
ด้วยมาตรฐานใหม่ 10 ข้อ เริ่มนำร่องกับ 16 เส้นทางในกรุงเทพฯ
- ลดระดับความสูงคันหินทางเท้า เป็นแบบรางตื้นสูง 10 เซนติเมตร
- ลดระดับความสูงคันหินทางเท้าบริเวณทางเข้าออกอาคารหรือซอยต่าง ๆ ให้สูง 10 เซนติเมตร จากเดิม 18.50 เซนติเมตร
- เปลี่ยนพื้นทางเท้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพื่อเพิ่มความแข็งแรง ด้วยคอนกรีตหนา 10 เซนติเมตร และเสริมเหล็ก 6 มิลลิเมตร
- ปรับทางเข้า-ออกอาคารให้มีระดับเสมอกับทางเท้า เพื่อให้ผู้ใช้ทางเท้าทุกคนสามารถผ่านได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบาย
- ปรับทุกทางเชื่อมและทางลาดให้มีความลาดเอียง 1:12 ตามมาตรฐานสากล
- เพิ่มรูปแบบทางเลือกวัสดุปูทางเท้า เป็นแอสฟัลต์คอนกรีตพิมพ์ลาย.
- เปลี่ยนช่องรับน้ำจากแนวตั้งให้เป็นแนวนอน เพื่อเพิ่มอัตราการไหลของน้ำ
- วางแนวทางการจัดตำแหน่งระบบสาธารณูปโภคบนทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางผู้ใช้ทางเท้า.
- วางอิฐนำทาง (Braille Block) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการทางสายตา.
- ปรับปรุงแบบคอกต้นไม้ด้วยวัสดุพอรัสแอสฟัลต์ เพื่อขยายพื้นที่ทางเท้าให้กว้างขึ้น
กทม. ไม่นิ่งนอนใจ ยินดีรับฟังปัญหา และมุ่งมั่นปรับปรุงทางเท้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่ทุกคนเดินได้ เดินดี.
ที่มา: กทม.