เบื้องหลัง แจกเงินดิจิทัล 10,000 รัฐบาลหักดิบแบงก์ชาติ

10 เม.ย. 2567 | 23:24 น.

เบื้องหลังการประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท วงในเผยรัฐบาลหักดิบแบงก์ชาติ ติงยืมเงิน ธ.ก.ส. มาตรา 28 ผิดเป้าประสงค์ใช้เงิน สุดท้ายคลังการันตีไม่ขัดกฎหมาย

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปชัดเจนเกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นที่เรียบร้อย โดยนายกฯ ประกาศอย่างเป็นทางการจะเปิดให้ประชาชนและร้านค้าจะสามารถเข้าร่วมโครงการ ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ก่อนเป่านกหวีดเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 

เบื้องลึก-เบื้องหลัง ก่อนจะได้ข้อสรุปในครั้งนี้ มีอะไรซ่อนอยู่ค่อนข้างมาก แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงบรรยากาศในห้องประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัลวอลเล็ต ชุดใหญ่ ครั้งนี้ว่า ที่ประชุมเวลาในการหารือถึงวาระต่าง ๆ ไม่ถึงชั่วโมง โดยเริ่มต้นการประชุมในเวลาประมาณ 10.30 น. เล็กน้อย ก่อนจะเลิกประชุมในเวลา 11.00 น. เพื่อให้นายกฯ และบอร์ดร่วมกันแถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน 

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ประชุมหารือหลายเรื่องอย่างรวดเร็ว และแทบจะไม่ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นบอร์ดได้แสดงความคิดเห็นมากเท่าใดนัก โดยเฉพาะผู้แทนผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งในการประชุมบอร์ดครั้งนี้ผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เข้าร่วมประชุมแทนผู้ว่าฯ ที่ติดภารกิจประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

ทั้งนี้ธปท. ได้ตั้งข้อสั่งเกตโดยพุ่งเป้าไปที่การจัดเตรียมแหล่งเงินเพื่อนำมาใช้ในโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ผ่านกลไกของมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กว่า 172,300 ล้านบาท เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือไม่

นั่นเพราะการจะใช้เงินมาตรา 28 ของธ.ก.ส. ต้องเป็นการนำเงินก้อนนั้นมาช่วยเหลือดูแลกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก แต่วัตถุประสงค์ของการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กลับทำไปเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน กรณีอย่างนี้สามารถทำได้โดยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่า สามารถดำเนินการได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย

“ธปท.แสดงความเป็นห่วง และมองว่าจะผิดวัตถุประสงค์ เพราะวัตถุประสงค์ไม่ชัด เช่นเดียวกับการจัดทำซูเปอร์แอป เพื่อนำมาใช้ในโครงการ จะทำยังไง รูปแบบไหน เชื่อมต่อยังไง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะหากเริ่มต้นโครงการแล้วอาจทำให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการปฏิบัติได้” แหล่งข่าวระบุ

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน เข้าร่วมประชุมบอร์ดนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่ทำเนียบรัฐบาล

พร้อมกันนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งมองว่าอาจทำให้ร้านค้าขนาดเล็กจริง ๆ ในชุมชนเข้าร่วมโครงการได้ลำบาก รวมไปถึงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ครั้งนี้ มีการพูดคุยถึงเงื่อนไข โดยยังย้ำถึงการแจกเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่การแจกแบบเปิดกว้าง 50 ล้านคน 

อีกประเด็นนั่นคือ ปัญหาเรื่องของการควบคุมการทุจริต แต่ในเรื่องนี้นั้นที่ประชุมก็ได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการฯ โดยมีผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ และผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม

 

การประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

 

โดยจากการให้สัมภาษณ์ของรัฐบาล ระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่หลักในการตรวจสอบ วินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ รวมถึงการกระทำที่อาจฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อติดตามการดำเนินโครงการในขั้นตอนต่าง ๆ ด้วย

“ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่มีการตั้งข้อสังเกตกันในที่ประชุมบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า ตัวเลขคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ มีเงินหมุนลงไปในระบบเท่าไหร่ กระตุ้น GDP ได้แค่ไหนนั้น จะเป้นจริงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ และมีหน่วยงานไหนประเมินได้บ้าง ซึ่งการประชุมครั้งนี้ไม่ได้มีรายละเอียด และทุก ๆ วาระ ก็รวบรัด เพราะหลายเรื่องที่รายงานก็ผ่านการพิจารณาทั้งหมดด้วยความรวดเร็ว จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงภายหลัง” แหล่งข่าว กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามในช่วงของการแถลงข่าว นายกรัฐมนตรี ระบุว่า นโยบายการเติมเงินดิจิทัล ที่ผ่านการเห็นชอบจากบอร์ดครั้งนี้รัฐบาลได้ใช้ความพยายามสูงสุดฟันฝ่าอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลาย จนวันนี้ได้มาถึงวันที่รัฐบาลสามารถทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับพี่น้องประชาชน ส่งมอบนโยบายที่จะพลิกชีวิตพี่น้องประชาชนได้ และที่สำคัญเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ รวมทั้งอยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

 

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet

 

"รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ การดำเนินโครงการฯ จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐ อย่างเคร่งครัด" นายกฯ แถลง

ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้กระทรวงการคลังในฐานะเลขานุการของบอร์ดเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะสรุปผลประชุมบอร์ดเสนอไปให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป ภายในเดือนเมษายน 2567 นี้