แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 วันนี้ (10 เมษายน 2567) ซึ่งมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะมีการรับรองผลการประชุมบอร์ดครั้งก่อนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 โดยมีเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเห็นของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ได้แสดงความเห็นถึงโครงการเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า
ธปท. มีความเห็นในเบื้องต้นว่า เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมการฯ มีความครบถ้วนและรอบคอบ ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ฝ่ายเลขานุการฯ และหน่วยงาน ที่ได้รับมอบหมายให้จัดทำข้อเสนอเพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินโครงการ ควรศึกษาและนำเสนอข้อมูลที่มีความชัดเจนต่อคณะกรรมการฯ เพื่อประกอบการพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ อย่างน้อย ดังต่อไปนี้
กรณีแหล่งเงินของโครงการฯ โดยข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งเงินในการดำเนินโครงการนั้น ธปท. เห็นว่า หากจะเสนอให้ใช้งบประมาณแผ่นดิน ควรมีการศึกษาและนำเสนอข้อมูลแหล่งเงินงบประมาณ ประมาณการ วงเงินงบประมาณที่อาจนำมาใช้ได้ และแนวทางในการบริหารงบประมาณรายจ่ายรายการต่าง ๆ ให้ชัดเจน
รวมทั้งควรพิจารณาว่า การใช้เงินงบประมาณตามที่ระบุนั้น สอดคล้องกับกฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องครบถ้วนแล้ว ซึ่งหากยังมีประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ต้องตีความหรือวินิจฉัย ควรหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ได้ข้อยุติ เช่นเดียวกับที่เคยหารือในช่วงก่อนหน้า โดยมี 3 ประเด็นดังนี้
1.หากเสนอให้ใช้เงินจากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่า เป็นกรณีฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นที่ไม่อาจใช้งบประมาณที่จัดสรรไว้แล้ว
2.หากเสนอให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ควรชี้แจงได้ชัดเจนถึงเหตุผลในการใช้เงินและแหล่งเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
3.หากเสนอมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการโดยรัฐบาลรับภาระ จะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่า การดำเนินการนั้นอยู่ในหน้าที่ อำนาจ และขอบวัตถุประสงค์ของหน่วยงานนั้นหรือไม่ พร้อมทั้งจะบริหารจัดการภาระทางการคลังและผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานนั้นอย่างไร
แหล่งข่าวระบุว่า ธปท. ยังระบุถึงความจำเป็นและความคุ้มค่าของการใช้เงิน เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมาย วินัยการเงินการคลังและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ควรชี้แจงได้ชัดเจนว่า การดำเนินโครงการนี้เป็นการดำเนิน นโยบายการคลังที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ และได้พิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และ ผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐ โดยครบถ้วนรอบคอบแล้ว
ขณะเดียวกันในประเด็นการพัฒนาและดำเนินการระบบเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาและดำเนินการระบบเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีความชัดเจน ทั้งในส่วนของหน่วยงานผู้พัฒนาและดำเนินการระบบ ซึ่งหากเป็นหน่วยงานภาครัฐจะต้องมี ภารกิจหน้าที่ตามกฎหมาย มีขีดความสามารถและประสบการณ์
รวมทั้งมีความพร้อมและทรัพยากรเพียงพอ ในการพัฒนาและดำเนินการระบบที่มั่นคงปลอดภัย มีความเสถียร และมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับธุรกรรม ที่จะเกิดขึ้นจำนวนมาก ตลอดจนสามารถดูแลคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก
อีกทั้งยังต้องมีความชัดเจนเกี่ยวกับระบบ โดยหากไม่ใช้ระบบที่ดำเนินการอยู่แล้ว ควรมีรายละเอียดของระบบใหม่ที่ชัดเจน เช่น ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของระบบ ขั้นตอนการทำธุรกรรม รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสามารถทำธุรกรรมได้ตามเงื่อนไขของโครงการ รวมทั้งต้องมีกระบวนการพิสูจน์ยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ (KYC) ของประชาชนและร้านค้าอย่างรัดกุมเพิ่มเติมด้วย
ส่วนด้านการลดความเสี่ยงต่อการทุจริต ธปท. ระบุว่า ในแนวทางการเข้าร่วมโครงการของประชาชนและร้านค้าที่ชัดเจน โดยต้องกำหนดแนวทาง และมาตรการในการลดความเสี่ยงต่อการทุจริตในลักษณะต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบสิทธิของประชาชนและ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการฯ
รวมทั้งการลงทะเบียนร้านค้าในลักษณะนอมีนี การทำธุรกรรมที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของโครงการ เช่น การโอนสิทธิให้แก่กันโดยไม่มีการซื้อขายสินค้าจริง และการใช้จ่ายซื้อขายสินค้าที่ต้องห้าม และแนวทางการป้องกันการขายลดสิทธิระหว่างประชาชน เป็นต้น