นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ว่า ประชาชนจะต้องเข้ามาลงทะเบียน เพื่อยืนยันตัวตนในการรับสิทธิ โดยโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต จะเริ่มเปิดลงทะเบียนในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 และประชาชนจะสามารถใช้จ่ายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 ส่วนช่องทางในการใช้จ่ายนั้น จะใช้แอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA
“สาเหตุที่ไม่เลือกใช้แอปเป๋าตัง เนื่องจากแอปทางรัฐ เป็นแอปของรัฐจริงๆ โดยเป๋าตังยังเป็นของแบงก์ อย่างไรก็ตาม เป๋าตังก็อาจจะยังต้องใช้ แต่เป็นระบบข้างหลัง ไม่ได้เป็นด้านหน้า เนื่องจากเป็นระบบ Open Loop ซึ่งหมายความว่า เป็นวอลเล็ตของสถาบันการเงิน ทั้งแบงก์และน็อนแบงก์สามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งเป๋าตังอาจจะไปเชื่อมต่อตรงนั้น เช่นเดียวกันกับ เคพลัส และแม่มณี เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคที่ DGA อยู่ระหว่างการพัฒนา”
ทั้งนี้ คณะกรรมการได้กำหนดเกณฑ์ประชาชนที่ได้รับสิทธิโครงการ ต้องไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะมีการกำหนดระยะเวลาที่มียอดเงินในบัญชีย้อนหลังอีกครั้ง ก่อนเริ่มใช้โครงการ
“เรื่องนี้เป็นรายละเอียดที่จะต้องตามมา แต่เบื้องต้น การพิจารณาเรื่องเกณฑ์รายได้ต่อปี อาจจะพิจารณาวงเงินตามเกณฑ์ที่กำหนดจากเงินได้ของปีภาษี 2566 ซึ่งเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่นเดียวกันกับเรื่องเงินฝาก อาจจะดูวงเงินฝากในช่วงสิ้นปี 2566 หรืออาจจะกำหนดยอดวงเงินสิ้นสุดในช่วงมี.ค.67 ต้องมาพิจารณากันอีกครั้ง แต่ยืนยันว่า จะกำหนดระยะเวลาต้องเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้วแน่นอน”
ส่วนร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นร้านค้าที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะต้องมีขนาดเล็ก เช่น ร้านค้าโชห่วย และร้านสะดวกซื้อ อย่างเซเว่น อีเลเว่น ก็สามารถเข้าร่วมได้ ทั้งนี้ หลักการได้รับเงินของร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ คือ รอบแรกมีเงินอยู่ที่ประชาชน โดยประชาชนที่ได้รับสิทธิจะต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ที่อยู่ในเขตอำเภอ เพื่อให้มีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือเป็นรอบที่ 1
ทั้งนี้ เมื่อร้านค้าขนาดเล็กได้รับวงเงินมาแล้ว ต้องเอาไปใช้ต่อเป็นรอบที่ 2 ในร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งจะเป็นการซื้อขายร้านค้ากับร้านค้า โดยหากร้านค้าที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวอยู่ในระบบภาษี ร้านค้านั้นๆ จะสามารถเอาออกจากระบบได้ โดยเกณฑ์โครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต กำหนดให้ร้านค้าที่สามารถนำเงินออกจากระบบได้ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
“การกำหนดร้านขนาดเล็กในรอบแรก มองว่า จะต้องเป็นร้านโชห่วย ขึ้นมาได้มากที่สุด คือร้านสะดวกซื้อ อาทิ เซเว่น ร้านในปั๊ม แต่ยังไม่ถึงแม็คโคร ค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่ ทั้งนี้ ที่ทำให้มีรอบที่ 1 และรอบที่ 2 เพราะเราอยากให้เกิดการหมุนเวียน เพราะหากเงินในระบบออกได้เร็ว แรงส่งต่อเศรษฐกิจก็จะมีน้อยลง”
นายลวรณ กล่าวว่า วงเงินจากดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ที่ประชาชน 50 ล้านคนได้รับ จะต้องใช้จ่ายผ่านร้านค้าขนาดเล้กเท่านั้น โดยมีระยะเวลาการใช้จ่าย 6 เดือน ซึ่งมั่นใจว่า วงเงิน 5 แสนล้านบาท จะลงสู่ร้านค้าขนาดเล็กทั้งหมด โดยรัฐจะมีระบบบล็อกร้านค้าที่ 2 ไม่ให้ประชาชนสามารถใช้จ่ายได้ เพื่อกำหนดให้ประชาชนซื้อในร้านค้าขนาดเล็กก่อน
ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวมีระบบป้องกันเรื่องเงินทอน และทุจริตการใช้จ่าย ซึ่งโครงการในอดีตที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้น แต่ก็มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิในการใช้จ่าย ทุกครั้งที่มีการใช้จ่ายจะต้องมีการยืนยันตัวตนในรูปแบบ face to face และยังมีตำรวจไวเบอร์ที่จะเข้ามาดูเรื่องเงินทอน และการซื้อของผิดประเภท โดยมีโทษสูงสุดถึงจำคุก