หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2567 ชะลอตัวลงคือ การใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาครัฐ ทำให้หลายหน่วยงานเศรษฐกิจได้ปรับลดประมาณการการณ์เติบโตของเศรษฐกิจไทยลง โดยจะเห็น การใช้จ่ายภาครัฐ 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ ติดลบ 10.8% โดยเฉพาะงบลงทุนที่ติดลบถึง 58.2% ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณทำได้เพียง 40.8% เท่านั้นเหตุเพราะงบประมาณประมาณรายจ่ายปี 2567 ยังไม่มีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงินงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว จากนั้นสภาฯ จะจัดส่งร่างพ.ร.บ.ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) หากไม่มีผู้ยื่นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตีความ ครม.จะนำร่างพ.ร.บ.ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนี้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จะมีผลบังคับใช้ คาดว่า จะส่งผลให้สถานการณ์เศรษฐกิจไทยตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป มีความคึกคักมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีวงเงินใหม่ลงไปในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวงการคลังจะผลักดันให้เม็ดเงินหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องก็ตาม
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้ดำเนินมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายไปหลายมาตรการและยังได้มีการสื่อสารไปยังหน่วยงานรับงบประมาณ ถึงขั้นตอนการดำเนินการที่สามารถทำได้ระหว่างรอให้งบประมาณมีผลบังคับใช้ เพื่อให้สามารถเซ็นสัญญาและดำเนินการเบิกจ่ายได้ทันที เมื่องบประมาณปี 67 มีผลบังคับใช้
“กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ระหว่างรองบประมาณปี 67 กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการไว้รองรับ เพื่อเตรียมการ หากงบประมาณมีผลบังคับใช้ ก็เบิกจ่ายได้ ไม่ใช่ว่าเงินมาแล้วเพิ่งเริ่มต้นตั้งเรื่องโครงการ จัดทำทีโออาร์การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ได้เตรียมไว้หมดแล้ว” นายลวรณกล่าว
ด้านนางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลางกล่าวว่า หลังจากได้มีการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ที่มีนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเมื่อวันที่ 22 ก.พ.67 ที่ผ่านมา และกรมได้เสนอผลการประชุมให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบในวันที่ 26 มี.ค. จากนั้นจะส่งหนังสือเวียนให้ส่วนราชการปฏิบัติต่อไป
ทั้งนี้กรมบัญชีกลางเสนอให้หน่วยงานเร่งรัดการลงนามการก่อหนี้ในโครงการที่มีระยะเวลา 1 ปี ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 67 ส่วนโครงการผูกพันใหม่ที่รับงบประมาณมากกว่า 1 ปีนั้น กำหนดทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 67 ซึ่งในปีงบประมาณ 67 นี้ โครงการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่เป็นโครงการปีเดียว เนื่องจากเหลือระยะเวลาใช้จ่ายงบเพียง 5 เดือนเท่านั้น
“รายละเอียดจำนวนโครงการต่างๆ จะอยู่ในงบประมาณ ซึ่งสำนักงบประมาณเป็นผู้อนุมัติ โดยโครงการปีเดียวที่เราระบุให้เซ็นสัญญาในเดือนมิถุนายน เนื่องจากโครงการปีเดียวไม่ต้องผ่านความเห็นชอบความเหมาะสมราคาที่สำนักงบประมาณ จะสามารถลงนามสัญญาได้เลย ส่วนโครงการผูกพันจะต้องมีการนำผลการจัดซื้อจัดจ้างไปเสนอสำนักงบประมาณ เมื่อสำนักงบประมาณเห็นชอบผลแล้ว จึงจะสามารถไปลงนามสัญญาได้”นางสาวทิวาพร กล่าว
ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางยังได้เตรียมความพร้อมเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปีงบ 67 โดยได้มีการส่งหนังสือเวียนไปยังส่วนราชการ ตั้งแต่วาระกรรมมาธิการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ในเรื่องภายใน อาทิ การจัดทำคุณสมบัติของสินค้าที่ส่วนราชการจะจัดหา เตรียมการเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะจัดจ้าง และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปจนถึงได้คู่สัญญา แต่ยังไม่ลงนาม อีกทั้ง กรมบัญชีกลางยังได้ผ่อนคลายวิธีการประกาศการจัดซื้อจัดจ้างด้วย
ขณะที่นางแพตริเซีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวถึงความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณว่า การเบิกจ่ายในช่วง 1 ตุลาคม 2566- 8 มีนาคม 2567 สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 1.35 ล้านล้านบาท แม้พ.ร.บ.งบประมาณปี 67 จะยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ตามวิธีการงบประมาณของสำนักงานประมาณ กำหนดให้รัฐบาลสามารถใช้งบประมาณไปพลางก่อนได้
สำหรับการใช้งบประมาณปี 66 ไปพลางก่อนนั้น วงเงินจัดสรรอยู่ที่ 1.83 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็น งบรายจ่ายประจำ 1.68 ล้านล้านบาท และรายจ่ายลงทุน1.55 แสนล้านบาท โดยการเบิกจ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำ สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 1.26 ล้านล้านบาท คิดเป็น 75.48 % ของวงเงินที่ได้รับจัดสรรในส่วนของงบรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนเบิกได้ 8.19 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 52.68 % ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรรในส่วนของงบลงทุน
“การเบิกจ่ายงบประมาณ จะเบิกจ่ายตามความสำเร็จของโครงการ ซึ่งแบ่งการเบิกจ่ายเป็นงวดๆ หากพิจารณาเฉพาะงบลงทุนแล้ว พบว่า สัดส่วนการเบิกจ่ายต่อวงเงินที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงบประมาณช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ 52.68 % สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 66 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 32.57%” นางแพตริเซีย กล่าว
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 3,981 วันที่ 7 - 10 เมษายน พ.ศ. 2567