จากการลักลอบขุดและขนย้ายกากแคดเมียม 1.5 หมื่นตันที่จังหวัดตากทำให้เกิดคำถามตามมาว่า "กากแร่แคดเมียม" ซึ่งเป็นสารอันตรายนี้เอาไปใช้ทำอะไร ทำไมจึงมีคนเสี่ยงขุดและขนสารอันตรายนี้ไปซุกซ่อนไว้ ในหลายจุดตามที่ปรากฎเป็นข่าวตลอดหลายวันที่ผ่านมานี้ทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร, ชลบุรี ล่าสุด คือ เขตบางซื่อ กทม. ทั้งที่รู้ดีว่ามีความผิดตามกฎหมาย
จากข้อมูลของ Statista เมื่อปี 2023 ระบุว่า ราคาเฉลี่ยของแคดเมียมในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 4.1 ดอลลาร์สหรัฐ/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจาก 3.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมในปี 2022
นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระหว่างการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังเก็บกากแคดเมียมที่จังหวัดสมุทรสาครเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ระบุถึงโทษในส่วนของเจ้าของผู้ให้เช่าโกดังว่า มีความผิดในฐานครอบครองกากแร่ที่มีการปนเปื้อนของสังกะสีและแคดเมียม ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีโทษจำคุก 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สอดรับกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ที่ระบุว่า จะมีการแจ้งข้อหาในความผิดตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ที่พบกากแคดเมียม แม้ทางเจ้าของบริษัทฯ จะให้ความร่วมมือในการนำเอกสารต่าง ๆ มาให้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ โดยเบื้องต้นเข้าข่ายความผิดฐานมีวัตถุอันตรายไว้ในครอบครอง โทษจำคุก 2 ปี ปรับ 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แคดเมียม คือ อะไร
แคดเมียม (Cadmium) เป็นโลหะที่พบปะปนกับโลหะอื่นๆ เช่น ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง
คุณสมบัติ :
ประโยชน์ :
การผลิตแบตเตอรี่แบบชาร์จไฟซ้ำได้ หรือแบตเตอรี่แบบนิเกิล-แคดเมียม (Ni-Cd) ซึ่งชาร์จซ้ำได้มากและจ่ายกระแสไฟได้สูงกว่าแบตเตอรี่ลิเทียม รวมถึงสามารถใช้งานได้ทั้งในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงและต่ำ แต่มีข้อเสียคือ ความจุพลังงานน้อยกว่าแบตลิเทียมและเสียความจุหากชาร์จไม่ถูกวิธี รวมถึงเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
การชุบโลหะเนื่องจากแคดเมียมมีคุณสมบัติต้านทานการกัดกร่อนสูง จึงสามารถนำไปชุบเคลือบโลหะอื่นเพื่อป้องกันสนิมหรือการกัดกร่อน รวมถึงมีแรงเสียดทานต่ำจึงนิยมใช้เคลือบชิ้นส่วนเครื่องจักรที่มีการเสียดสี เช่น เฟือง ลูกปืน ฯลฯ อีกทั้งยังอ่อนตัวทำให้เคลือบชิ้นงานที่พื้นผิวซับซ้อนได้ง่าย
การผลิตสีซึ่งเม็ดสีจากแคดเมียมจะให้สีเหลืองสด สีส้ม และสีแดง ซึ่งทนทานต่อแสงและการกัดกร่อนของสารเคมี
แหล่งที่พบ
1.อาหารและแหล่งน้ำ: ร่างกายได้รับจากแคดเมียมจากการปนเปื้อนและตกค้างในแหล่งน้ำและอาหารเป็นสำคัญ
2. อากาศ: แคดเมียมเป็นหนึ่งในโลหะที่พบว่่ามีการปนเปื้อนอย่างมากในอากาศจากการเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล ถ่านหิน และน้ำมัน
3. บุหรี่: มีแคดเมียมได้ปริมาณ 0.5-1 ไมโครกรัม/บุหรี่ 1 มวน เนื่องจากการตกค้างในใบยาสูบ
การรับเข้าสู่ร่างกาย
การหายใจ (ดูดซึมได้ 10-40%) และการรับประทาน (ดูดซึมประมาณ5% การดูดซึมจะเพิ่มขึ้นในกรณีที่ร่างกายขาดธาตุเหล็ก สังกะสี และแคลเซียม) เมื่อเข้าสู่ร่างกายแคดเมียมจะไปสะสมที่ตับ ไต ปอด ตับอ่อน กล้ามเนื้อ เนื้อเยอะไขมัน อัณฑะ และรบกวนการทำงานของเอนไซม์ต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระซึ่งจะทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกายต่อไป
พิษต่อร่างกาย
1.พิษต่อไต ทำให้การทำงานของไตผิดปกติ (proximal tubule damage) อาการแรกเริ่มจะพบโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ทำให้เกิด Fanconi syndrome ได้
2.พิษต่อปอด ทำให้เกิดภาวะทางเดินหายใจอักเสบเรื้อรัง ปอดอักเสบเรื้อรัง
3.พิษต่อกระดูก ทำให้เกิดการสร้างกระดูกที่ผิดปกติได้ (ได้รับเรื้อรัง) ทำให้กระดูกพรุนและปวดกระดูก (โรค itai-itai รายงายที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ช่วงปี คศ. 1912)
4.พิษต่อระบบสืบพันธุ์ มีการศึกษาพบว่าทำให้ลดการสร้างสเปิร์มและมีการสร้างสเปิร์มที่ผิดปกติได้
5.พิษต่อระบบหัวใจแลหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดผิดปกติ เพิ่มโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ สมอง และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เพิ่มความเสี่ยงความดันสูง
6.เป็นสารก่อมะเร็ง (IARC I) แคดเมียมในระยะยาวจะสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกมาก มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งไต เป็นต้น
การขับออกจากร่างกาย : ผ่านไต (HL 8-10 ปี)
วิธีการตรวจวัด: ตรวจปัสสาะวะ (urine cadmium, urine creatinine, urine beta -microglobulin)
ข้อมูล/ภาพ กรุงเทพมหานคร