การ "เสียภาษี" ถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่คนไทยที่มีรายได้ และไม่มีรายได้จะต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดก็ตาม
แต่ภาษีที่มักจะถูกกล่าวถึงอยู่เสมอคือการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ผู้มีรายได้จะต้องยื่นแบบแสดงการเสียภาษีที่ปีกับกรมสรรพากร
อย่างไรก็ดีล่าสุดนายสันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง นักวิชาการ โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว (Sunt Srianthumrong) โดยระบุถึงการเสียภาษีของคนไทยว่า
"คนไทยส่วนน้อยเท่านั้นที่เสียภาษี" จริงหรือ?
เห็นพูดกันเยอะ ว่าคนไทยเกือบ 70 ล้านคน มีแค่คนที่พอมีอันจะกินไม่กี่ล้านคนเท่านั้นที่เสียภาษี (เงินได้บุคคลธรรมดา) และแบกภาระภาษีเอาไว้แทนคนส่วนใหญ่ของประเทศ
มาดูตัวเลขและกราฟกัน
ปี 2566 รัฐบาลจัดเก็บรายได้ ได้ทั้งหมด 3,197,909 ล้านบาท
ในนี้เป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 395,743 ล้านบาท
คิดเป็นแค่ 12.38 % เท่านั้นเอง
นี่คือที่คนส่วนน้อยที่จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจ่าย
ส่วนรายได้ที่เหลือของรัฐบาลอีก 87.62% ก็มาจากภาษีอื่นๆ และรายได้อื่นๆที่แฝงเข้ามาให้
พวกเราทุกๆคนต้องจ่ายครับไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว อาทิเช่น
VAT 913,580 ล้านบาท ภาษีตัวนี้ เด็ก 1 ขวบ 2 ขวบ ซื้อขนมถุงละ 10 บาท ยันคนแก่อายุ 90 ปี จ่ายค่ายาค่าอาหาร ก็โดนกันถ้วนหน้า
ภาษีเงินได้นิติบคุคล 767,319 ล้านบาท
บริษัทห้างร้านได้กำไรก็ต้องจ่าย แล้วธุรกิจเอาเงินจากไหนมาจ่าย ก็เอามาจากลูกค้าที่ซื้อสินค้าและบริการอยู่ดี และตอนเคาะแผนธุรกิจ ก็เคาะแล้วว่ากำไรหลังหักภาษีรับได้หรือไม่ พูดง่ายๆก็คือ ภาษีก็รวมไปในราคาสินค้าและบริการแล้วทั้งนั้น
ภาษีสรรสามิต 477,132 ล้านบาท
พวกภาษีน้ำมัน ก๊าซหุงต้มรวมอยู่ที่นี่ ภาษีความหวานของเครื่องดื่มก็อยู่ในนี้นะครับ จ่ายทุกคน คนไม่ใช้น้ำมันก็ต้องจ่ายเพราะรวมอยู่ในค่าขนส่งที่คนทำขนส่งก็ต้องบวกเข้าไป อยู่บ้านทำกับข้าวกินเองก็ต้องจ่าย ออกไปกินร้านก็ต้องจ่าย โดนหมด
และรายได้อื่นๆของรัฐบาล เช่น รายได้จากรัฐวิสาหกิจต่างๆ รายได้สัมปทาน ก็ต้องเก็บเอามาจากทุกๆคนที่ใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานสารพัดนั่นแหละ
และนี่คือ 87.62% ของสิ่งที่เรียกว่าภาษีหรือเทียบเท่า ที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ต่างต้องช่วยกันจ่ายในชีวิตประจำวัน ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ไม่ใช่เฉพาะคนส่วนน้อยที่มีอันจะกินหรอกที่แบกภาษีของประเทศ จริงๆคือ ทุกคน