กสร. เตือนวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงาน-จ่ายเงิน

23 เม.ย. 2567 | 06:03 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 06:12 น.

กสร. เตือนนายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างหยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม และ จ่ายค่าจ้างเท่ากับวันทำงาน หากมีลูกจ้างจำเป็นต้องทำงานให้หยุดชดเชยในวันถัดไปหรือจ่ายเงินเพิ่มไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของวันปกติ

นางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติ วันที่ 1 พฤษภาคมด้วย กสร. จึงขอฝากย้ำเตือนไปยังนายจ้าง สถานประกอบกิจการให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยจัดให้ลูกจ้างได้หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติและจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน กรณีที่วันแรงงานแห่งชาติตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ของลูกจ้าง ให้ลูกจ้างได้หยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป

 

สำหรับกรณีที่นายจ้างไม่อาจให้ลูกจ้างหยุดงานในวันดังกล่าวได้เนื่องจากลูกจ้างทำงานในกิจการโรงแรม สถานมหรสพร้านขายอาหาร ร้านขายเครื่องดื่ม สโมสร สมาคม สถานพยาบาลและสถานบริการการท่องเที่ยว งานในป่า งานในที่ทุรกันดาร งานขนส่ง และงานที่มีลักษณะงานหรือสภาพของงานต้องทำติดต่อกันไปถ้าหยุดจะเสียหายแก่งานนั้น ให้นายจ้างตกลงกับลูกจ้างว่าจะหยุดชดเชยในวันอื่นแทนหรือให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้ก็ได้

นางโสภา กล่าวต่อว่า หากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างอีกไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า 1 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย และหากนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาในวันแรงงานแห่งชาติ นายจ้างต้องจ่ายค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แก่ลูกจ้างในอัตราไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงาน ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ หรือไม่น้อยกว่า 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อหน่วยในวันทำงานตามจำนวนผลงานที่ทำได้สำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย

กสร. เตือนวันแรงงานแห่งชาติ 1 พ.ค.นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดงาน-จ่ายเงิน

 

   “หากนายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยเพิ่มเติม หรือต้องการร้องเรียนกรณีที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ติดต่อได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทั้ง 10 พื้นที่ ” นางโสภากล่าว.