นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงประเด็นเรื่องการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ ครม.ชุดใหม่ ว่า เป็นการปรับแบบส่วนน้อย (Minor Change) ไม่ได้ปรับใหญ่ หรือเรียกว่าเป็นการปรับแบบกะทัดรัด โดยเน้นในบางเรื่องที่ต้องการจะขับเคลื่อนต่อ ซึ่งเป็นการปรับแต่งเครื่องให้พร้อมที่จะเดินต่อ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ
ซึ่งจะเห็นว่าการปรับ ครม. ครั้งนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับกระทรวงการคลัง โดยได้นายพิชัย ชุณหวชิร มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเต็มตัว หรือทำงานเต็มเวลา และมีรัฐมนตรีช่วยเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งก็คือนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล
ทั้งนี้ เท่ากับว่ากระทรวงการคลังจะมีผู้ที่คอยทำงานขับเคลื่อนนโยบายช่วยกันถึง 4 คน โดยเข้าใจว่าในช่วง 7 เดือนแรกที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเข้ามานั่งรักษาการณ์เป็นรมว.คลังเองก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่งบประมาณปี 67 ล่าช้า 7-8 เดือน ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้มาก
ดังนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่งบประมาณปี 67 ผ่านเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งงบประมาณปี 68 กำลังจะออกมาซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาล เมื่อรวมกับนโยบายเรือธงของรัฐบาลอย่างโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตที่จะออกในไตรมาส 4/67 งานของการกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญ และจะต้องเป็นจังหวะที่ลงตัวกันอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น ที่มีการออกแบบมาจึงเสมือนเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ
"เมื่อเงินงบประมาณออกแล้ว ก็จะต้องมีการเร่งเบิกจ่าย และจะต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง"
อย่างไรก็ดี สิ่งที่นายกฯได้ดำเนินการ และทุกฝ่ายมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากก็คือ การชวน 4 สถาบันการเงินขนาดใหญ่มาหารือ และขอความร่วมมือในการลดดอกเบี้ย 0.25% ให้กับกลุ่มเปราะบาง และเอสเอ็มอีก่อน 6 เดือน ซึ่งทำให้เวลาสถาบันการเงิน หรือหน่วยงานของรัฐ และสมาคมธนาคารไทยออกมาขานรับนโยบายดังกล่าว และจะทำการลดดอกเบี้ยตามไปด้วย
"ก่อนหน้านี้มีการรอให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็ไม่เห็นผล และถือว่าใช้ระยะเวลาในการรอที่นาน การที่นายกฯใช้วิธีคุยกับธนาคารพาณิชย์ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะลดต้นทุนทางการเงินให้ ซึ่งการเจรจาก็ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยทางจิตวิทยาก็ทำให้เกิดกำลังใจ อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนทางการเงิน ซึ่งการลดดังกล่าวเป็นผลทำให้ความรู้สึกของดอกเบี้ยที่เป็นส่วนต่างจะลดลงตามไปด้วย โดยส่งผลทำให้ดอกเบี้ยทั้งในระบบ และนอกระบบมีแนวโน้มมที่จะลดลง ซึ่งเป็นการลดภาระ และลดต้นทุนให้กับเอสเอ็มอี และผู้กู้ โดยอย่างน้อยก็ทำให้กำลังซื้อกลับมาได้"
นอกจากนี้ ในไตรมาส 4/67 จะมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะสอดรับกันไปอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการปรับ ครม. ครั้งนี้มีความมุ่งหมายตั้งใจมุ่งเน้นการปรับแบบไม่มาก แต่เลือกที่จะปรับในส่วนที่เป็นกระทรวงเศรษฐกิจเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หากถามว่าเอกชนจะมีข้อเสนออะไรให้ ครม.ใหม่เร่งดำเนินการหรือไม่ คงต้องบอกว่ารัฐบาลเองน่าจะรู้อยู่แล้วว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวเชื่อว่ารัฐบาล โดยเฉพาะนายกฯได้วางขั้นตอนทุกอย่างไว้หมดแล้ว ตั้งแต่ช่วง 6-7 เดือนแรกที่ผ่านมา ซึ่งไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าที่เป็นอยู่เพราะเงินงบประมาณยังไม่ออกมา
หวังว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่เข้ามาทำงานแบบเต็มเวลา และมีประสบการณ์จากบริษัทขนาดใหญ่ อีกทั้งที่ผ่านมาก็อยู่ในเหตุการณ์ของการแก้ไขวิกฤติหลายอย่าง หรือเรียกว่ามีความเข้าใจทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างดี และเมื่อมีรัฐมนตรีช่วยอีก 3 คนก็จะเป็นทีมเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป