"กนอ.-ไชน่า แมเนจเม้นท์" รุกดึงทุนจีนปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมไทย

30 เม.ย. 2567 | 06:14 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2567 | 06:14 น.

"กนอ.-ไชน่า แมเนจเม้นท์" รุกดึงทุนจีนปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมไทย เดินหน้าตามกรอบหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ ยกระดับการพัฒนาด้านภูมิภาคสร้างกลไกนวัตกรรม

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ดำเนินการร่วมกับไชน่า แมเนจเม้นท์ เซ็นจูรี่ กรุ๊ป (China Management Century Group) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจากมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ทั้งนี้ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (BRI) เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และโลจิสติกส์ ยกระดับการพัฒนาด้านภูมิภาคสร้างกลไกนวัตกรรมร่วมกัน

สำหรับไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดโดยเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายใต้กรอบ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง  ซึ่งนำไปสู่ความร่วมมือทวิภาคีด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน และการพัฒนากลไกความร่วมมือด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่อง
 

รัฐบาลไทยและจีนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี (EV ซึ่งไทยมีศักยภาพและได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนเป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีบริษัทจีนมาลงทุนตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรมของไทยเพิ่มมากขึ้น"

"กนอ.-ไชน่า แมเนจเม้นท์" รุกดึงทุนจีนปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมไทย

นายเหอ ซีออง นายกเทศมนตรีเมืองเจิ้งโจว กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวไม่เพียงเป็นการพัฒนาความร่วมมือของจีนและไทยเท่านั้น แต่ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการพัฒนาเมืองเจิ้งโจว และจังหวัดระยองอีกด้วย เมืองเจิ้งโจว ในฐานะเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน ในปี 2566 มี GDP ของภูมิภาคเกินกว่า 1.36 ล้านล้านหยวน 

จากจำนวนประชากรเกินกว่า 13 ล้านคน ผ่านตัวชี้วัดหลายประการ เช่น อัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรม อัตราการเติบโตของยอดขายปลีกรวมของสินค้าอุปโภค-บริโภค และการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา 
 

นอกจากนี้ เจิ้งโจว มีทำเลที่ตั้งโดดเด่น เป็นหนึ่งใน 12 ศูนย์กลางการคมนาคมระหว่างประเทศ และศูนย์กลางการขนส่งโดยสายการบินต่างๆ 6 แห่ง เป็นเส้นทางสายไหมทั้งสี่" ของทางอากาศ ทางบก ทางออนไลน์ และทางทะเล นอกจากนี้ สนามบินเจิ้งโจวยังติดอันดับหนึ่งในสนามบินขนส่งสินค้าชั้นนำ 40 แห่งของโลก รถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป ครอบคลุมมากกว่า 40 ประเทศ และมากกว่า 140 เมือง 
 
"จีนและไทยมีความใกล้ชิดและเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ซึ่งในระหว่างการเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เสนอให้สร้างชุมชนจีน-ไทยที่มั่นคง โดยการบูรณาการ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง เปิดตัวศูนย์อาเซียนอย่างเป็นทางการสร้าง เส้นทางสายไหมทางอากาศ เจิ้งโจว-อาเซียน  และบรรลุข้อตกลงเมืองพี่กับจังหวัดระยอง ในประเทศไทย เปิดตัวรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับผลไม้นำเข้าจากประเทศไทย และรถไฟสายเย็นพิเศษสำหรับส่งออกสินค้าเกษตร เปิดเส้นทางการบินให้กับสายการบินนกแอร์เที่ยวบินแรกสู่เจิ้งโจว โดยในปี 2567 เจิ้งโจว ประสบความสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพเดือนแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน (เหอหนาน)-อาเซียน และจัดเทศกาลอาหารไทย "Thai Heartbeat" 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยี พัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านทำเลที่ตั้ง และเป็นเป้าหมายของนักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก 

"กนอ.-ไชน่า แมเนจเม้นท์" รุกดึงทุนจีนปักหมุดนิคมอุตสาหกรรมไทย

ขณะที่เมืองเจิ้งโจว ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นเมืองที่มีการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อก้าวไปสู่ระดับโลก และมีแผนงานที่จะพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในหลากหลายส่วนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ที่สำคัญยังมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานต่างๆ อีกด้วย
 
“กนอ. มุ่งส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ภายใต้กรอบความร่วมมือ BRI มั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะดึงดูดนักลงทุนจีนให้เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม”