นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม หารือกรอบความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาลว่า จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กองทัพอากาศ (ทอ.) ดำเนินการตามนโยบาย ดังกล่าว ซึ่งกองทัพอากาศพร้อมสนับสนุนรัฐบาลในมิติของการบินพลเรือน โดยมีประเด็นหารือร่วมกันในเรื่องการมอบสนามกอล์ฟ กานตรัตน์ หรือที่รู้จักกันในชื่อสนามงู ให้รัฐบาลใช้ประโยชน์ด้านการบินพลเรือน
ทั้งนี้ทอ.และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ได้ประสานงานกันแล้ว เบื้องต้นได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณารายละเอียดร่วมกัน นอกจากนี้ได้หารือเรื่องการพัฒนาถนนวงแหวนรอบที่ 1 ผ่านบริเวณของกองบิน 41 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งกองทัพอากาศกับกรมทางหลวง (ทล.) จะมีการพัฒนาร่วมกัน โดยเปิดให้ประชาชนใช้ถนนผ่านเข้า - ออก ในพื้นที่ กองบิน 41 เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรของประชาชน ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรในตัวเมืองเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ตนได้มอบนโยบายให้ ทอท. พิจารณางบประมาณในการชดเชยรายได้บุคลากรและรายได้จากสวัสดิการต่าง ๆ รวมทั้งการสนับสนุน ทอ. อย่างสมเหตุสมผล จากการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สนามงู เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถเที่ยวบินจาก 55 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 65 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะนำมาซึ่งรายได้มาสู่ประเทศได้เพิ่มขึ้น
ส่วนแนวทางการพัฒนาถนนวงแหวนรอบที่ 1 ผ่านบริเวณของกองบิน 41 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ได้มอบให้ กรมทางหลวง (ทล.) ตั้งคณะทำงานร่วมกับ ทอ. เพื่อพิจารณาหาแนวทางการกำหนดเส้นทางผ่านกองบิน 41 ที่เหมาะสมร่วมกัน โดยมีแนวทางเบื้องต้น 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ใช้เส้นทางเดิมบางส่วน ปรับมาตรการผ่านเข้าออกโดยเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย 2. ใช้เส้นทางเดิมบางส่วน จากนั้นเลือกเส้นทางอื่นที่เหมาะสมภายใน กองบิน 41 และ 3. ใช้เส้นทางเดิมและเจาะอุโมงค์ลอดผ่าน กองบิน 41 บางส่วน
“การประชุมหารือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งในอนาคตทั้งสองหน่วยงานจะมีความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงานจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย Aviation Hub ของรัฐบาล และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทั้งด้านการบินและด้านเศรษฐกิจตามเป้าหมายของรัฐบาลได้โดยเร็ว”
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากการหารือร่วมกับกองทัพอากาศพบว่าผลกระทบในกรณีที่ไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟ จะมีผลกระทบด้านยุทธการ เนื่องจากบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ในอนาคตหากมีสถานการณ์วิกฤตขึ้นกองทัพอากาศจะปรับเปลี่ยนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการด้านความมั่นคงทันที รวมทั้งจะมีผลกระทบการใช้ประโยชน์พื้นที่ราชพัสดุ ประโยชน์ด้านสวัสดิการกับข้าราชการกองทัพอากาศ
ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบกับขวัญและความรู้สึกของข้าราชการกองทัพอากาศ เนื่องจากผู้ใช้บริการเป็นข้าราชการกองทัพอากาศทั้งในปัจจุบันและผู้ที่เกษียณแล้ว ซึ่งมีพนักงานสนามกอล์ฟ จำนวน 49 คนจะขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว รวมทั้งพนักงานถือถุงกอล์ฟ (แคดดี้) จำนวน 264 คน ขาดรายได้ที่หาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้โดยรอบพื้นที่สนามกอล์ฟยังมีผู้ประกอบการร้านค้าประจำหลุมต่างๆ ที่จะขาดรายได้เลี้ยงครอบครัว และการไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ ยังส่งผลให้ขาดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในชุมชน
นอกจากนี้ทางกองทัพอากาศได้ประเมินผลกระทบด้านรายได้ที่จะเกิดขึ้นหากไม่มีกิจการสนามกอล์ฟ โดยประมาณการเงินชดเชยรวมประมาณ 138 ล้านบาท ประกอบด้วย
อย่างไรก็ตามกองทัพอากาศยังประเมินการจัดใช้งบประมาณที่จะต้องเกิดขึ้น หากไม่ได้ดำเนินกิจการสนามกอล์ฟ โดยแบ่งงบออกเป็น ชดเชยรายได้และบุคลากร คาดการณ์ไว้ที่ปีละ 89.6 ล้านบาท และงบค่าสิ่งก่อสร้างและอุปกรณ์ ประมาณ 48.8 ล้านบาท รวมทั้งยังมีงบค่าก่อสร้างอาคาร Sport Complex แห่งใหม่ ที่ต้องการให้ ทอท.สนับสนุน ประเมินวงเงินลงทุนในหลักพันล้านบาท