"เงินเฟ้อทั่วไป" เมษายน 2567 พลิกบวก 0.19% ครั้งแรกรอบ 7 เดือน

03 พ.ค. 2567 | 03:39 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ค. 2567 | 11:34 น.

สนค. เผย เดือนเมษายน 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19% กลับมาเป็นบวกในรอบ 7 เดือน แต่อัตราเงินเฟ้อของไทยเทียบต่างประเทศ ลดลง 0.47%

วันนี้ (3 พฤษภาคม 2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยเดือนเมษายน 2567 เท่ากับ 107.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 0.19% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน

อย่างไรก็ตามหากดูจากอัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ในเดือนมีนาคม 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยลดลง 0.47 % และยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ที่ระดับต่ำอันดับ 5 จาก 137 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และอยู่ในระดับต่ำอันดับ 2 ในอาเซียน จาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข ( สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน)

 

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนเมษายน 2567 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2567 สูงขึ้น 0.85% ตามการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์  1.19% ปรับสูงขึ้นตามราคาผักสด  ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผลไม้สด และกาแฟผงสำเร็จรูป

ขณะที่ ข้าวสารเจ้า แป้งข้าวเจ้า ปลาทู และกระเทียม ราคาปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมา และหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 0.61% ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก และการสิ้นสุดมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ของใช้ส่วนบุคคลสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด  และค่าเช่าบ้าน

อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญที่ราคาปรับลดลง อาทิ ค่าธรรมเนียมผ่านทางพิเศษ เสื้อเชิ้ตบุรุษ เครื่องถวายพระ และน้ำหอม เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0.0 – 1.0 (ค่ากลาง 0.5%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จะมีการทบทวนอีกครั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนเมษายน 2567 ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.9 จากระดับ 54.1ในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17 (ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันและในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) สาเหตุมาจาก 

  • สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ว่าจะได้รับปัจจัยหนุนมาจากเทศกาลสงกรานต์
  • ความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น อาทิ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อน และ

ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการศึกษาเนื่องจากใกล้เปิดภาคเรียน อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีหลายรายการ จึงเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนียังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่น

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม รวมถึงอีก 8 เดือนหน้าของปี 2567 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเป็นบวก เนื่องจากราคาน้ำมันน้ำปรับตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปปี 2566 ฐานราคาสินค้าก็ค่อนข้างต่ำ และนอกจากนี้ การปรับขึ้นราคาสินค้าในปัจจุบัน นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งกรมการค้าภายในให้ดูแล