จากกรณีที่รัฐบาลพยายามผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย–อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือ "แลนด์บริดจ์"มูลค่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อเปิดประตูการค้าภาคใต้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และเริ่มร่างโครงการ ทั้งเร่งหาที่ผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมทุน จากความเคลื่อนไหวดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มทุนต่างชาติสนใจระนองมากขึ้น ล่าสุดกลุ่มทุนจีนลงพื้นที่จังหวัดระนอง แสดงความสนใจที่จะร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับมณฑลยูนนาน
โดยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 นายราชัน มีน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ให้การต้อนรับนายสวี ตง (Mr. Xu Dong) รองอธิบดีสำนักงานส่งเสริมการพัฒนาหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของมณฑลยูนนาน และสมาชิกกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปมณฑลยูนนานและคณะ ได้มาเยี่ยมเยือนจังหวัดระนองเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับมณฑลยูนนาน
รวมทั้งหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลโครงข่ายโลจิสติกส์ และข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งการมาเยือนจังหวัดระนองในครั้งนี้ เป็นประโยชน์และสร้างโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ของประเทศไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลยูนนานและจังหวัดระนอง โดยมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลข้อมูลโครงข่ายโลจิสติกส์ และโครงการแลนด์บริดจ์ด้วย
นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 นายหวัง หยูโป (H.E.Wang Yubo) ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ ได้เดินทางมาเยือนจังหวัดระนอง เพื่อส่งเสริมความความสัมพันธ์ พร้อมจับมือจังหวัดระนอง ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดำเนินการตามฉันทามติของผู้นำไทย - จีนที่จะสร้างประชาคมไทย – จีน ที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ผู้ว่าการมณฑลยูนนาน กล่าวว่า ในปี 2024 จีนได้ตั้งกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลยูนนานกับภาคใต้ของประเทศไทย โดยยกระดับกลไกนี้ขึ้นมาเป็นความร่วมมือระหว่างยูนนานและไทย รวมถึงจังหวัดระนอง ด้วยประสงค์ที่จะเชื่อมโยงการพัฒนาและเส้นทางการค้าให้เข้ากับกลไกของความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ในอนาคตจังหวัดระนองจะมีโครงการการพัฒนาประตูการค้าฝั่งตะวันตก โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนองและรถไฟรางคู่ชุมพร-ระนอง เพื่อเชื่อมโยง เปิดประตูไปสู่ประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆในกลุ่มเอเชียใต้ ซึ่งก็จะทำให้จังหวัดระนองเป็นศูนย์กลางในการส่งสินค้า และคณะผู้ว่าการมณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เดินทางลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนท่าฉาง และท่าเรือระนอง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 นายชินจิ อินโนะอุเอะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเทศญี่ปุ่น รองประธานคณะกรรมการของคณะรัฐมนตรีประจำรัฐสภา พร้อมด้วย นายชุนสึเกะ มุไต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รองประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ประจำรัฐสภา กรรมการคณะกรรมการนโยบายด้านภัยพิบัติวาระพิเศษ ประจำรัฐสภา นายทาคาคาสึ เซโตะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเทศญี่ปุ่น และคณะเจ้าหน้าที่องค์การออยสก้าสากล ประเทศญี่ปุ่น และประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง
ในครั้งนี้มีการหารือเกี่ยวกับโครงการพัฒนาชุมชนชายฝั่งจังหวัดระนองให้เข้มแข็งรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ N-Ren Ranong Project โดยวัตถุประสงค์โครงการ เพื่อสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อชุมชนชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนชายฝั่ง ในการตั้งรับและปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนชายฝั่งมีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่ง และป่าชายเลนอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนระนอง ตั้งข้อสังเกตว่า การลงพื้นที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ อาจต้องการข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ เนื่องจากระนองเป็นพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์
รวมทั้งสามารถขยายท่าเรือ ในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่อีกทั้งตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร – ระนอง
ผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 4 แสนล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ทำให้หลายๆชาติต่างให้ความสนใจ
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3989 วันที่ 5–8 พฤษภาคม พ.ศ. 2567