จี้รัฐแก้ผังเมือง 6 จังหวัดอันดามัน รับพังงาเมืองใหม่ แลนด์บริดจ์

15 มี.ค. 2567 | 06:25 น.
อัปเดตล่าสุด :02 เม.ย. 2567 | 09:41 น.

เอกชนแนะรัฐแก้ผังเมือง 6 จังหวัดอันดามันพร้อมกัน รองรับพังงาเมืองใหม่ เมกะโปรเจกต์ สนามบินอันดามัน และแลนด์บริดจ์ พร้อมสร้างรถไฟฟ้ามวลเบาจากสนามบินอันดามันเข้าเมืองภูเก็ต แก้ปัญหารถติดหนัก

นายเลิศศักดิ์  ปนกลิ่น  นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา และที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย " ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขณะนี้จังหวัดพังงาเป็นจังหวัดหนึ่งที่ติดขัดเรื่องกฎหมายผังเมืองไม่สามารถพัฒนาเมืองรองรับการค้า  การลงทุน และการท่องเที่ยวได้  

โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลโคกกลอย  อำเภอท้ายเหมือง  จังหวัดพังงา  รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้าง"สนามบินภูเก็ต 2" หรือ "สนามบินอันดามัน" หากไม่มีการปรับแก้ผังเมืองพื้นที่บริเวณโดยรอบของสนามบินก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ การพัฒนาและเจริญเติบโตจะอยู่เฉพาะตัวสนามบินเท่านั้น  ขณะที่พื้นที่สร้างสนามบินอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดพังงา ไม่สามารถสร้างโรงแรม โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้าได้เลย
 

ส่วนด้านทิศเหนือของพังงาติดกับจังหวัดระนอง จะพัฒนาเป็นพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ หากติดกฎหมายผังเมืองก็ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ ดังนั้นรัฐบาล หน่วยงานภาครัฐ ต้องแก้กฎหมายผังเมืองรอไว้ก่อนสร้างสนามบินและแลนด์บริดจ์ หากยังติดกฎหมายผังเมืองทั้งหมดเมกะโปรเจกต์ที่รัฐบาลวาดฝันไว้  ทั้งสนามบินอันดามัน และแลนด์บริดจ์จะเป็นปัญหาในการพัฒนาเมืองทันที

นายเลิศศักดิ์  ปนกลิ่น  นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา

นายเลิศศักดิ์  กล่าวว่า ปัญหาผังเมืองพังงา ภาคเอกชนเคยพูดคุยในที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.)จังหวัดหลายครั้ง และเคยยื่นเรื่องดังกล่าวให้นายเศรษฐา  ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ช่วงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดพังงา ให้มีการแก้ผังเมืองแล้ว   

โดยพื้นที่เป็นปัญหา จุดแรก คือ ตำบลโคกกลอย  ที่จะสร้างสนามบิน เป็นสีขาว เขียว   จุดที่2 อำเภอเกาะยาว  พื้นที่ติดสิ่งแวดล้อมจะพัฒนาอะไรไม่ได้ พื้นที่บริเวณนี้สามารถพัฒนาร่วมกับจังหวัดภูเก็ตได้

และจุดที่3 สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ บ้านเขาหลัก เกาะคอเขา ต้องการนำเสนอเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ การแก้กฎหมายผังเมือง รัฐบาลต้องมองภาพรวม ต้องแก้ผังเมืองจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน 6 จังหวัด(กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล)ทั้งหมด เพราะกลุ่มอันดามันที่ติดทะเลจะอยู่ในพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ  พื้นที่ป่า  พื้นที่อนุรักษ์  และติดผังเมือง จะพัฒนาการท่องเที่ยวไม่ได้   อีกทั้งจังหวัดพังงาสร้างตึกได้ไม่เกินความสูง 3ชั้น

ทั้งนี้ จังหวัดพังงามีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน  นส.3 ก และนส.3 จะเห็นว่าพื้นที่หรือสถานที่ท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน 6 จังหวัดจะอยู่ในเขตพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ  ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งสิ้น  หากต้องการได้เงินจากการท่องเที่ยวที่มีกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปยังประเทศไทยและสร้างเม็ดเงินปีละล้านล้านบาท   

จี้รัฐแก้ผังเมือง 6 จังหวัดอันดามัน รับพังงาเมืองใหม่ แลนด์บริดจ์

แต่ในทางกลับกันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำการกวดขันปราบปรามจับกุมผู้ที่เข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยผิดกฎหมาย ทั้งที่เจตนาและไม่เจตนา สองนี้เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน ซึ่งในหลายประเทศถึงแม้จะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ แต่สามารถเข้าไปทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวได้  จึงอยากให้ประเทศไทยนำตัวอย่างที่ดีของต่างชาติ มาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่ของประเทศไทย

นอกจากนั้นในกรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติประสบอุบัติเหตุในจังหวัดพังงา ก็ไม่มีโรงพยาบาลเอกชนที่ได้มาตรฐานและทันสมัยมารองรับ ต้องนำนักท่องเที่ยวมารักษาในโรงพยาบาลของจังหวัดภูเก็ตหรือเข้ารักษาในกรุงเทพฯ  เพราะพื้นที่จังหวัดพังงามีเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้นซึ่งไม่สะดวกที่เรื่องการเคลมประกันชีวิต จึงเชิญชวนให้นักลงทุนกลุ่มแพทย์  มาลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่จังหวัดพังงารองรับนักท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

หากมองถึงศักยภาพของสนามบินอันดามัน ใช้พื้นที่ก่อสร้างบนเนื้อที่ประมาณ 7,000 ไร่ มีทั้งที่ดินกรมธนารักษ์และเอกชน ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 6-7 ปี   มีทางวิ่งเครื่องบินรันเวย์ 2 เส้น รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 40 ล้านคนต่อปี  ก่อนการสร้างสนามบิน ภาครัฐควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานให้ครบ โดยเฉพาะรถไฟไฟฟ้ามวลเบา ที่วิ่งเชื่อมระหว่างพื้นที่โคกกลอย สนามบินอันดามัน และเข้าไปยังตัวเมืองภูเก็ต  รัฐควรสร้างเครือข่ายการคมนาคม เชื่อมสนามบิน 2 แห่ง   สถานที่ท่องเที่ยว  ห้างสรรพสินค้า  ท่าเรือ  ทั้งพังงาและภูเก็ต ให้นักท่องเที่ยวและประชาชนเดินทางได้ง่าย

นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดพังงา กล่าวถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวพังงาว่า  ช่วงเดือนมกราคม ถึง ธันวาคม 2566  อัตราการเข้าพัก  มีการเข้าพักเฉลี่ย 61.99%  จำนวนห้องพัก  13,935 ห้อง วันพักเฉลี่ย 9.84วัน   2,910,157คน  เป็นคนไทย 1,065,590 คน  เป็นชาวต่างชาติ 1,844,567คน  สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 63.38% คนไทย 36.62%    

ขณะที่รายได้จากผู้มาเยือน 28,494,4.55ล้านบาท เป็นชาวไทย 4,610.6ล้านบาท เป็นชาวต่างชาติ 23,884.0ล้านบาท    ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวัน 6,119.28 นักท่องเที่ยว 7,333.63 นักทัศนาจร 2,513.97 

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในจังหวัดพังงา  5 อันดับ ได้แก่ เยอรมัน บริติช  รัสเซีย   ออสเตรเลีย  และฝรั่งเศส  มีบริษัทนำเที่ยวทั้งในและต่างประเทศรวม 342 แห่ง  สิ้นปี 2567 คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 60,000อล้านบาท และ สิ้นปี 2568 คาดหวังรายได้จากการท่องเที่ยว 80,000 ล้านบาท

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3975 วันที่  17 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2567