ลุ้น ครม.อนุมัติปีนี้ ส่วนต่อขยาย "ดอนเมืองโทลล์เวย์" 3.1 หมื่นล้าน

08 พ.ค. 2567 | 05:41 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ค. 2567 | 05:49 น.

“ทางหลวง” ดัน มอเตอร์เวย์ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์” 3.1 หมื่นล้าน เข้าครม.อีกรอบ ภายในปีนี้ หลัง สำนักเลขาฯขอความเห็นหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม ลุ้นเปิดประมูลปี 68 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP ปักหมุดเปิดให้บริการปี 72

KEY

POINTS

  • “ทางหลวง”  ดัน มอเตอร์เวย์ต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์” 3.1 หมื่นล้าน เข้าครม.อีกรอบ ภายในปีนี้  
  • หลังสำนักเลขาฯขอความเห็นหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม
  • ลุ้นเปิดประมูลปี 68 ดึงเอกชนร่วมทุน PPP ปักหมุดเปิดให้บริการปี 72 

กรมทางหลวง (ทล.) มีแผนเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง หนึ่ง ในนั้น คือ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือ มอเตอร์เวย์หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ซึ่งจะเป็นเส้นทางสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในตัวเมือง สามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานครสู่ภูมิภาคได้สะดวกมากขึ้น 

 

นายปิยพงษ์  จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผย ว่า  โครงการมอเตอร์เวย์หมายเลข 5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน หรือส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์  ระยะทาง22 กิโลเมตร (กม.) วงเงิน 31,358.39 ล้านบาท  ว่า ที่ผ่านมากรมฯและกระทรวงคมนาคมได้เสนอโครงการฯ ต่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อบรรจุวาระเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.)  แต่ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งอาจจะติดปัญหาเรื่องการสอบถามความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าครม.จะเห็นชอบได้ภายในปีนี้ 

 

หลังจากนั้นกรมฯจะดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำเอกสารการประกาศประกวดราคา (RFP) และเปิดประมูลได้ภายในปี 2568 คาดว่าจะลงนามสัญญาพร้อมก่อสร้างได้ภายในปี 2569 ระยะเวลาการก่อสร้าง 4 ปี ซึ่งโครงการฯจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572 
 

สำหรับโครงการแบ่งออกเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา ช่วงรังสิต-บางปะอิน วงเงิน 28,187 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้างงานระบบและอาคารที่เกี่ยวข้อง ช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต-บางปะอิน วงเงิน 1,155 ล้านบาท ,ค่าก่อสร้าง Rest Stop ด่านรังสิต 1 วงเงิน 7 ล้านบาท, ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน วงเงิน 77 ล้านบาท ,เงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด วงเงิน 1,467 ล้านบาท และค่าออกแบบ-ควบคุมงานก่อสร้าง วงเงิน 462 ล้านบาท

 

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวง  ระบุว่า โครงการส่วนต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) ระยะเวลาสัมปทานไม่เกิน 34 ปี  โดยเอกชนสามารถเปิดให้บริการได้ทันทีเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่จะไม่มีการขยายระยะเวลาการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) หากก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน 4 ปี ซึ่งมีรูปแบบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน Build - Transfer - Operate (BTO) โดยรัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าธรรมเนียมผ่านทางและเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้ดังกล่าวโดยตรง 

 

ด้านเอกชนจะได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการ (Availability Payment: AP) จากภาครัฐตามเงื่อนไขที่กำหนด  ประกอบด้วย ค่าก่อสร้างในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 15 ปี (ใช้กองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง) และค่า O&M เป็นระยะเวลา 30 ปี ทั้งนี้ จะเริ่มจ่ายให้เอกชนภายหลังจากที่เริ่มเปิดให้บริการโครงการฯ (ใช้กองทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง) ทั้งนี้เอกชนต้องชำระค่าตอบแทนในส่วนของ Rest Stop ให้ ทล. ตามที่กำหนดในสัญญา
 

ขณะที่รูปแบบโครงการเป็นทางยกระดับตามแนวถนนพหลโยธิน 6 ช่องจราจร (ไป-กลับ) มีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 7 แห่งดังนี้ 1.จุดเชื่อมต่อบริเวณด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด่านรังสิต 1 2.จุดขึ้น-ลง ด่านรังสิต 2 3.จุดขึ้น-ลง ด่านคลองหลวง 4.จุดขึ้น-ลง ด่าน ม.ธรรมศาสตร์ 5.จุดขึ้น-ลง ด่านนวนคร 6.จุดขึ้น-ลง ด่านวไลยอลงกรณ์ และ 7.จุดขึ้น-ลง ด่านประตูน้ำพระอินทร์ โครงการนี้จะมีระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-lane Free Flow) หรือ M-Flow

ลุ้น ครม.อนุมัติปีนี้ ส่วนต่อขยาย \"ดอนเมืองโทลล์เวย์\" 3.1 หมื่นล้าน

นอกจากนี้โครงการมีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับดอนเมืองโทลล์เวย์ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน บริเวณทางแยกต่างระดับรังสิต (ประมาณ กม.33+924 ของทางหลวงหมายเลข 1 หรือถนนพหลโยธิน) และจุดสิ้นสุดโครงการอยู่ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน (ประมาณ กม.1+800 ของทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนสายเอเชีย) ซึ่งสามารถเชื่อมต่อได้โดยตรงกับ มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี และ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

 

อย่างไรก็ตามเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่พื้นที่ด้านเหนือ และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพหลโยธินและถนนวิภาวดีรังสิต โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่เกิดจากการขยายตัวของชุมชนเมืองทางด้านทิศเหนือที่เชื่อมต่อกับ จ.ปทุมธานี และ จ.พระนครศรีอยุธยา ตลอดจนเชื่อมต่อกับโครงข่ายที่สำคัญในการเดินทาง ได้แก่ มอเตอร์เวย์ 3 สาย คือ ถนนกาญจนาภิเษก (ทล.9) ด้านตะวันตกและด้านตะวันออก, บางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และ บางปะอิน-นครสวรรค์ (M5) รวมถึงถนนเอเชียและถนนพหลโยธิน ทำให้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคคล่องตัว ที่จะช่วยสนับสนุนกิจกรรมโลจิสติกส์และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ