นางสาวสุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยผลสำรวจ "ประชากรแฝง" ในประเทศไทย ในปี 2566 พบว่า ประชากรแฝงในปีนี้มีจำนวน 9.25 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 13.2 ของประชากรทั้งประเทศ กว่า 70.09 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝงกลางคืน 8.40 ล้านคน และประชากรแฝงกลางวัน 0.85 ล้านคน ซึ่งเข้ามาทำงาน จำนวน 0.61 ล้านคน และเข้ามาเรียนหนังสือจำนวน 0.24 ล้านคน
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) มีประชากรแฝงมากที่สุด โดยเฉพาะประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาเรียนและเข้ามาทำงานมีมากถึงร้อยละ 55.3 และร้อยละ 52.5 ตามลำดับ ส่วนประชากรแฝงกลางคืน มีร้อยละ 32.8 กระจายตัวในจังหวัดชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี และสมุทรสาคร
ส่วนประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาทำงาน ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ ปทุมธานี และสิงห์บุรี โดยประชากรแฝงกลางวันที่เข้ามาเรียน ได้แก่ จังหวัดนครปฐม พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และขอนแก่น
นางสาวสุวรรณี กล่าวว่า ข้อมูลประชากรแฝงหล่านี้จะช่วยสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านการศึกษา ด้านการทำงาน ทำให้เกิดปัญหาการจ้างงาน ปัญหาความแออัตตามมา
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการให้รองรับกับจำนวนประชากรที่มีอยู่จริงเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาความแออัดของที่อยู่อาศัย ปัญหาด้านการให้บริการสาธารณสุข และการบริหารจัดการสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากร เพื่อลดปัญหาต่าง ๆ
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติฯ ได้จัดทำสรุปผลที่สำคัญประชากรแฝงในประเทศไทย เป็นประจำทุกปี โดยนำข้อมูลจากการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม-ธันวาคม) มาทำการประมวลผลเพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลประชากรแฝง สำหรับหน่วยงานต่าง ๆ นำไปใช้ในการวางแผน กำหนดนโยบายสำหรับบริหารจัดการสวัสดิการ ทั้งด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข สาธารณูปโภค ได้อย่างเหมาะสมในแต่ละพื้นที่
สำหรับประชากรแฝง ประกอบด้วย ประชากรกลุ่มที่เข้ามาทำงานหรือเรียนหนังสือในจังหวัดที่ตนไม่ได้พักอาศัย ลักษณะเช้าไปเย็นกลับ เรียกว่า “ประชากรแฝงกลางวัน” และประชากรกลุ่มที่มาอาศัยอยู่ประจำแต่ไม่มีการย้ายทะเบียนบ้าน หรือไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านที่ตนพักอาศัย เรียกว่า “ประชากรแฝงกลางคืน”