สัญญาณอันตรายอีก 60 ปี ประชากรไทยจะเหลือแค่ 33 ล้านคน

08 มี.ค. 2567 | 00:03 น.

สถานการณ์ประชากรของประเทศไทย เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤต ล่าสุดพบสัญญาณอันตราย อีก 60 ปี ประชากรไทยจะเหลือแค่ 33 ล้านคน ส่งผลอย่างมากต่อสภาพเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศในอนาคต

สถานการณ์ประชากรของประเทศไทย เริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ ขณะที่แนวโน้มประชากรไทยในอนาคต ยังมีอัตราการเกิดของเด็กลดลงอย่างน่าเป็นห่วง แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลและหลาย ๆ หน่วยงานจะระดมกันหาทางแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ล่าสุดจากข้อมูลของ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำประมาณการประชากรของประเทศไทย ในระยะ 20 ปี เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานทางประชากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศซึ่ง ผลการคาดประมาณประชากรพบว่าในช่วง 12 ปีแรก (ปี 2561-2571) ประชากรรวมจะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่และจะเพิ่มขึ้นไปจนถึงปี 2571 ที่มีจำนวนสูงสุดที่ 67.19 ล้านคน 

จากนั้นตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นมา จำนวนประชากรรวมจะลดลงเหลือ 67 ล้านคน และ 66.18 ล้านคน ในปี 2575 และปี 2580 ตามลำดับ 

โดยที่กลุ่มวัยแรงงานมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2560 จาก 66.09% เหลือ 64.12% 61.37% 58.80% และ 56.80% ในปี 2565 2570 2575 และ 2580

 

การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนและโครงสร้างประชากรไทน ระหว่างปี 2565 – 2580 สศช.

ขณะที่สัดส่วนประชากร วัยเด็กและผู้สูงอายุมีสัดส่วนเท่ากันในปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 17% แต่ทิศทางในปี 2580 กลับตรงกันข้าม กล่าวคือ วัยเด็กจะมีสัดส่วนลดลงเหลือ 14.3% แต่ผู้สูงอายุ กลับเพิ่มขึ้นถึง 29.85% ส่งผลให้จำนวนผู้สูงอายุ จะมีถึงเกือบ 20 ล้านคน โดยที่อัตราเร่งของกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สูงกว่าวัยเด็กและวัยแรงงานที่ลดลง

ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ที่มี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 7 มีนาคม 2567 นอกจากการหาทางแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นแล้ว

รองนายกฯ ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทย มีเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างมาก จากปีละมากกว่า 1 ล้านคน เหลือเพียงไม่ถึง 5 แสนคน ทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 6.29 ในปี 2513 เหลือเพียง 1.08 ในปัจจุบัน

"โดยหากปล่อยให้เด็กเกิดใหม่ลดลงไปเรื่อย ๆ คาดการณ์ว่า ในอีก 60 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรของไทย จะลดลงครึ่งหนึ่ง เหลือเพียง 33 ล้านคน และจะทำให้วัยทำงานลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อสภาพเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศในอนาคต"

 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ส่วนอีกหนึ่งปัญหาที่น่าจับตาไม่แพ้กัน นั่นคือ แนวโน้มสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ลดลงจะยิ่งส่งผลต่อการเกิดของประชากรไทยในอนาคต ข้อมูลล่าสุดพบว่า สตรีวัยเจริญพันธุ์ อายุ 15 - 44 ปี มีแนวโน้มลดลงจาก 14.20 ล้านคนในปี 2560 เหลือ เพียง 11.81 ล้านคนในปี 2580 โดยส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอายุ 30 - 44 ปี ถึง 54.74% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมด ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่สามารถให้กำเนิดบุตรได้ค่อนข้างยาก 

สำหรับสตรีวัยเจริญพันธุ์ในกลุ่มอายุ 20 - 29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เหมาะสมในการ ให้กำเนิดบุตร จะมีสัดส่วนเพียง 30.97% ของสตรีวัยเจริญพันธุ์ทั้งหมด 

ดังนั้น ด้วยจำนวนสัดส่วนสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่ลดลง และอัตราการมีบุตรที่ลดลงจากบริบทการใช้ชีวิตที่สตรีเข้าสู่ตลาดงาน ส่งผลให้การส่งเสริมการมีบุตรของประชากรจำเป็นต้อง เร่งดำเนินการตั้งแต่ในช่วงวัยเจริญพันธุ์เพื่อการมีบุตรที่มีคุณภาพ 

นอกจากนี้ หากมีการดำเนินการส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีช่วยอนามัยการเจริญพันธุ์ และปรับปรุงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เอื้อกับกลุ่มสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุมากกว่า 30 ปีที่ต้องการมีบุตร รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมและรูปแบบการทำงานที่เอื้อต่อการเลี้ยงดู จะส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์รวมเพิ่มขึ้นได้