“ราเมศ” เตือน รัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ถูกกฎหมาย อย่าละเลยอำนาจ ไตรภาคี

10 พ.ค. 2567 | 05:21 น.
อัปเดตล่าสุด :10 พ.ค. 2567 | 05:29 น.

“ราเมศ” เตือน ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ควรเป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน อย่าละเลยอำนาจ ไตรภาคี

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงกรณีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า รัฐบาลประกาศชัดเจนว่ามีนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศโดยจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2567 นี้ ซึ่งก็ต้องมาดูรายละเอียดอยู่มากพอสมควร เราเข้าใจทั้งสองฝ่ายทั้งฝ่ายนายจ้างและ ฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เมื่อจะมีการปรับขึ้นค่าแรง การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ที่กำหนดกลไก ให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือ ที่เรียกว่าไตรภาคี จะมีภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนรัฐบาล ต้องพูดคุยกันเพื่อพิจารณา อัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และข้อเท็จจริงอื่นๆนำมาร่วมในการพิจารณา เพื่อนำไปสู่การพิจารณาขึ้นค่าแรง

ขอย้ำว่าสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ให้เป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี)ได้พิจารณาแล้ว

นายราเมศ กล่าวต่อว่า แต่เรื่องนี้ควรต้องแยกการพิจารณาออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดอีกด้วยเพราะข้อเท็จจริงในเรื่องการขึ้นค่าแรงไม่เหมือนกันทั้งหมด เมื่อได้ความเหมาะสมแล้วก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี นี่คือขั้นตอนที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกการพิจารณา พรรคการเมืองและรัฐบาลจะพิจารณาเรื่องนี้ตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่การกำหนดเป็นนโยบายพรรคการเมืองที่ประกาศว่าจะขึ้นค่าแรงเท่านั้นเท่านี้ ก็อยากถาม กกต. ว่าเป็นนโยบายที่ทำได้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือ

นายราเมศ รัตนะเชวง

นายราเมศกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าห่วงคือรัฐบาลบริหารราชการโดยไม่สนใจหลักเกณฑ์กฎหมาย รัฐบาลประกาศล่วงหน้าแล้ว ทั้งๆที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด ประชาชนก็สับสน สุดท้ายถ้าไปคนละทางกับไตรภาคี ใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลก็โยนบาปให้คนอื่นอีก อย่าทำการเมืองแบบเอาแต่ตัวเองได้ ควรคิดให้ละเอียดรอบคอบก่อน คิดให้ครบ

รัฐบาลต้องคิดควบคู่กันไปคือเรื่องสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า สุดท้ายเรื่องนี้ถ้ารัฐบาลยังคิดจะทำโดยไม่สนใจใยดีต่อกฎหมายป้ายหน้าก็เจอกันที่ ปปช. ต่อไป.