จากกรณีเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2567 ซึ่งตรงกับวันแรงงานที่ผ่านมา นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาทแบบถ้วนหน้าทั่วประเทศทุกอาชีพ ภายในวันที่ 1 ต.ค. 2567 นั้น ล่าสุดภาคเอกชนเตรียมออกมาคัดค้านในเรื่องนี้
โดยในวันอังคาร 7 พ.ค. 2567 สมาชิกสภาหอการค้าทั่วประเทศและสมาคมการค้าที่เกี่ยวข้อง เตรียมแถลงข่าวคัดค้านนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศแบบถ้วนหน้า 400 บาท โดยมีนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เป็นผู้แถลง
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอคัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน บางธุรกิจ ไม่มีความพร้อมที่จะแบกรับต้นทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่งผลเสียมากกว่าผลดี
โดยเฉพาะจังหวัดที่ไม่มีความพร้อม เช่น จังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือ ที่พักโรงแรมน้อย หากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เชื่อว่าจะเกิดปัญหา และส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่อยู่ในจังหวัดดังกล่าวแน่นอน ทั้งนี้ การขึ้นค่าแรงถือเป็นเรื่องใหญ่ ภายหลังการแถลงข่าวตัวแทนเอกชนจะขอเข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานอีกครั้ง
“นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จริง ๆ แล้วเห็นด้วย แต่ควรขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความพร้อม รวมถึงมีสัดส่วนแรงงานคนไทยที่มากกว่าแรงงานต่างชาติ เพื่อป้องกันเงินไหลออกนอกประเทศ ส่วนผู้ประกอบการไทย ที่แบกภาระต้นทุนสูงขึ้น บางรายอาจจะอยู่ไม่ได้”
ขณะที่ นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ก็มองว่าไม่ควรปรับขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ควรมีผลงานวิจัยหรือผลสำรวจที่ชัดเจนว่า ที่ผ่านมท แรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำมีจำนวนมากน้อยเพียงใด โดยอ้างอิงจากตัวเลขจากสำนักงานประกันสังคมก็ได้ ทั้งผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาตรา 39 และ 40 นอกจากนี้ ยังมีแรงงานต่างชาติอีกหลายล้านคน ที่จะได้รับผลกระทบในส่วนนี้
อย่างไรก็ตามการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ ต้องวิเคราะห์ให้ดี ว่าผู้ใดจะได้ประโยชน์มากที่สุด แนะนำว่า กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรเปิดรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้าน และควรสำรวจก่อนว่า ปัจจุบันมีแรงงานกลุ่มที่ได้รับค่าแรงไม่เป็นธรรม หรือต่ำกว่าความเป็นจริง มีสัดส่วนเพียงใด เพื่อกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ประสบปัญหา เพื่อให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มก่อนที่จะปรับขึ้นค่าแรงทั่วประเทศ