นโยบายค่าแรง 600 บาทต่อวันของพรรคเพื่อไทยกลายเป็น ต้นทุน-ภาระของผู้ประกอบการที่ต้องแบกไว้ ขณะเดียวกัน "ค่าครองชีพ" ของลูกจ้างพุ่งสูงขึ้น "ไตรภาคี" จึงตกที่นั่งลำบาก
คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 จะมีการประชุมในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 โดยมีวาระ “ค่าแรงขั้นต่ำ” 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ
ก่อนหน้านี้ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยืนยัน วัน.ว.เวลา น. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ดีเดย์ วันที่ 1 ตุลาคม 2567
สำหรับ 15 อรหันต์ “บอร์ดค่าจ้าง” ที่มี “ไพโรจน์ โชติกเสถียร” เป็นประธาน ที่ต้องตัดสินชี้ขาดว่า จะไฟเขียวตามแรงหนุนจาก "ลูกจ้าง" หรือ ปัดตกนโยบาย "ขึ้นค่าแรง" ตามเสียงคัดค้านของ "นายจ้าง" ประกอบด้วย
ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล 4 คน ที่มาจาก 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์
ขณะที่ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน มาจากการเลือกตั้งตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และ2559
ทั้งนี้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 82 วรรคท้าย กำหนดให้การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเพื่อชี้ขาด