วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการเปิดกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2567 ในส่วนของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้ประกาศไว้ในปี 2567 ว่า จะต้องได้เห็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาทต่อวัน ทุกกิจการทุกภาคส่วน ซึ่งในกิจกรรมวันแรงงานแห่งชาติวันนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ก็ได้ประกาศชัดว่า จะมีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันในวันที่ 1 ต.ค.2567 นี้
นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาที่ล่าช้าเพราะต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี ที่มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ต้องมีการศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม และถ้าหากยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งเรายังมีระยะเวลาจากนี้ไปอีก 5-6 เดือนในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะชาว SME ที่เป็นผู้ถือครองแรงงานมากที่สุด
แต่การประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายของรัฐบาลชัดเจน เมื่อประกาศไปแล้วเราจะทำอย่างไรให้สมบูรณ์ที่สุด ฉะนั้น เมื่อประกาศค่าจ้าง 400 บาทแล้ว SME ยังคงต้องเดินต่อไปได้ ซึ่งทางกระทรวงแรงงานจะเชิญเจ้าของธุรกิจต่างๆ รวมถึง SME มาหารือกัน นายพิพัฒน์ รมว.แรงงาน กล่าวและว่า
ขณะนี้มีสมาคมธุรกิจโรงแรม ได้เข้ามาพบกับตนและแจ้งว่าพร้อมปรับค่าทางขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.นี้ แต่ขอให้รัฐบาลช่วย Up-Re Skills ให้พนักงานด้วย ซึ่งตนจะนำข้อเสนอนี้ไปหารือกับท่านนายกฯ ว่าในการดำเนินงานต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่ และอย่างไรบ้าง เพราะเป็นหน้าที่ของตนที่จะไปของบประมาณกลางมาทำการดำเนินการ
เมื่อถามย้ำว่า การปรับขึ้นค่าจ้าง 400 บาทต่อวันจะดำเนินการในรูปแบบใด ปรับขึ้นในทุกอาชีพและทุกจังหวัดทั่วประเทศหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า เป็นการปรับขึ้นทุกอาชีพ ทั้งประเทศให้เป็น 400 บาทต่อวัน แต่ย้ำว่าในช่วง 4-5 เดือนนี้ จะต้องหารือร่วมกับผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถปรับขึ้นได้
ทั้งนี้ จะมีการประสานกับกระทรวงมหาดไทย ผ่านผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานในการลงไปหาผู้ประกอบการในพื้นที่
"เราปรับเป็นค่าจ้างขั้นต่ำในภาพรวมทุกอาชีพทั่วประเทศ แต่หากอาชีพไหนไม่ไหวก็ขอให้แจ้งรัฐบาลเพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือ สนับสนุนให้เดินหน้าได้" รมว.แรงงาน กล่าวและย้ำว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ทั่วประเทศจะได้ค่าจ้างขั้นต่ำที่เท่าเทียมกันทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย ไม่ว่าจังหวัดนั้นจะเป็นปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่เดิมมีการปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2 บาท ครั้งนี้เราจะปรับให้อยู่ในอัตราส่วนที่เท่าเทียมกันเพื่อที่จะเดินหน้าไปสู่วันละ 600 บาทในปี 2570
ถามว่า มีความกังวลหรือไม่ในการปรับค่าจ้างเป็น 400 บาทต่อวัน โดยเฉพาะในจังหวัดที่ได้ต่ำที่สุดคือวันละ 330 บาทในปัจจุบัน ที่จะต้องเพิ่มขึ้นถึง 70 บาท นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ตนคิดว่าตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ตนและปลัดกระทรวง ยังมีความกังวลในการปรับขึ้นเป็น 400 บาท จึงไม่ได้ประกาศไปในวันที่ 1 ม.ค.2567
ฉะนั้น เมื่อรัฐบาลบริหารประเทศผ่านไปแล้วมากกว่า 6 เดือน เศรษฐกิจดีขึ้นในภาคส่วนการท่องเที่ยวก็มีการประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท นำร่อง 10 จังหวัดภายในวันที่ 13 เม.ย.ที่ผ่านมา
"ถามว่ากังวลหรือไม่ ก็มีความกังวลอย่างมาก แต่ผมจะต้องไปหารือกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะนักธุรกิจชาวต่างชาติ เพื่อดูว่าผู้ประกอบการไหวหรือไม่ หรือถ้าไม่ไหว อยากให้รัฐบาลช่วยอย่างไร นี่คือสิ่งผมและกระทรวงแรงงานจะต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม" นายพิพัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย